ราคาเนื้อหมูในจีนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากปริมาณเกินความต้องการ อุตสาหกรรมการผลิตสุกรเริ่มกลับมาฟื้นตัวใกล้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิด ASF
น.สพ.คมกริช บุญขจร (หมอโอเล่) ผู้จัดการสาขาในจีน เครือเวทโปรดักส์ เผยถึงประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในจีนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า “ทำไมหมูจีนถึงได้ราคาลงขนาดนี้ ลงแรงมาก”
เมื่อดูจากข้อมูลหมูของประเทศจีนเห็นได้ว่าเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มอยู่ที่ 25 หยวน หรือประมาณ 125 บาท/กก. จากนั้นราคาก็ลดลงมาเรื่อย ๆ และเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2564 ราคาหมูหน้าฟาร์มลดลงไปถึง 13 หยวน หรือประมาณ 60 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำมาก ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าแต่ก่อนราคาหมูจีนจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร นั้นสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
ข้อแรก Supply หมูของจีนกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิด ASF จริงหรือไม่?
ผู้เลี้ยงหมูอันดับแรกของประเทศจีนเปิดเผยถึงจำนวนแม่พันธุ์จำนวนเมื่อต้นปีมีประมาณ 1,300,000 แม่ และได้ประกาศว่าภายในปลายปีนี้จะมีการขยายเพิ่มจำนวนเป็น 2,600,000 แม่ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้น Supply หมูของจีนจึงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลโดยเฉพาะในผู้เลี้ยงรายใหญ่ๆ ซึ่งโดยส่วนมากจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น โดยตั้งเป้าหมายขยายจำนวนภายในปลายปีมากถึง 100 %
ซึ่งก่อนเกิดโรคระบาด ASF ประมาณการไว้ว่าแม่หมูในประเทสจีนจะอยู่ที่ประมาณ 45 ล้านแม่ ณ ปัจจุบันนี้ตัวเลขขยับขึ้นมาเกือบถึงจุดเดิม ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์คือมากกว่า 95% เพราะฉะนั้นข้อแรกถือว่าจริง Supply หมูของจีนเพิ่มขึ้นจริงๆ
ข้อ 2 เนื้อหมูแช่แข็งถูกนำเข้ามาในประเทศเยอะจริงไหม?
ก่อนเกิด ASF ปริมาณการนำเข้าหมูในประเทศจีนอยู่ที่ประมาณ 1-2 ล้านต้น/ปี เมื่อเกิดโรค ASF ขึ้นในปี 2019 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2 ล้านตัน จากนั้นในปี 2020 มียอดการนำเข้า 4 ล้านกว่าตัน และในปีนี้ 2021 นี้ในช่วง 4 เดือนแรกมีการนำเข้าแล้ว 1.5 ล้านตัน นั่นหมายความว่าช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีปริมาณการนำเข้าที่มากกว่าก่อนที่จะเกิดโรคระบาด ASF หรือก่อนปี 2018 เพราะฉะนั้นกลับไปที่ข้อแรก ถ้าปริมาณหมูในประเทศเพิ่มขึ้น และมีการนำหมูจากต่างประเทศเข้าอีก ดังนั้นเนื้อหมูที่ป้อนเข้าไปในตลาด ทั้งหมูเป็นและเนื้อหมูแช่แข็งจึงมีจำนวนเพิ่มเป็นมหาศาล จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้หมูจีนราคาลง เพราะฉะนั้นข้อนี้เป็นจริง
ข้อ 3 กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรเทขาย จึงเป็นเหตุให้ราคาลดลงอย่างรวดเร็ว
เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าสนใจ หากดูที่กราฟข้อมูลจะเห็นว่าเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ราคาหมูหน้าฟาร์มในประเทศจีนก็อยู่ที่ 120-125 บาท แต่ผ่านมาเพียง 1 เดือน ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มลดลงมาเรื่อย ๆ จนเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ราคาลดลงมาอยู่ที่ 60 บาท ยิ่งเลี้ยงนานยิ่งทำให้เกษตรกรขาดทุน เพราะฉะนั้นเกษตรกรรวมถึงฟาร์มรายใหญ่ จึงเร่งเทขายหมูกันนั่นเอง
เมื่อถามถึงการระบาดของโรค ASF ในประเทศจีนขณะนี้ มีการประกาศอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายที่เกิดการระบาด เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ขณะนี้ในประเทศจีนยังมีการระบาดอยู่ในบางเขตพื้นที่ เพียงแต่ไม่มีประกาศออกมา พอเกิดการเทขายหมูเป็นจำนวนมาก ราคาลดลงอย่างหนัก ทางผู้เลี้ยงจะเริ่มกลับไปมองเรื่องของต้นทุนการเลี้ยง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ประสิทธิภาพการผลิต ดังนั้นจึงเกิดการคัดแม่หมูที่ไม่มีประสิทธิภาพทิ้ง เพราะฉะนั้นในช่วงครึ่งปีแรกมีการคัดทิ้งแม่หมู 3.5 ล้านแม่ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นตลาดจึงเต็มไปด้วยหมูเป็นและเนื้อหมูแช่แข็ง จึงทำให้ราคาหมูในตลาดจีนดิ่งลงมาก
ล่าสุดปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ราคาหมูเริ่มดีดตัวสูงขึ้นแต่ในช่วงสั้น จากนั้นราคาก็ปรับลดลงอีกครั้ง เหตุผลหลักๆ มาจาก ดังนี้
1.ผู้เลี้ยงรวมตัวกันชะลอการขาย เพื่อเป็นการลดปริมาณ Supply ที่จะเข้าไปในตลาด
2.โรงเชือดรวมตัวกับผู้ขายเนื้อแช่แข็ง พยายามดึงราคาขึ้น
3.เป็นช่วงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงเกิดกำลังการบริโภคขึ้นมาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
4.เป็นช่วงฤดูที่ราคาหมูในประเทศจีนขึ้นราคาในช่วงเดือนที่ 7-8 ของทุกปี
อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป เนื่องจากปีนี้ก็จะไม่เหมือนปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้
ขอขอบคุณ : น.สพ.คมกริช บุญขจร Country Manager, Vet Products China