“สัตวบาล” คือ ผู้อภิบาลสัตว์ เป็นศาสตร์ด้านหนึ่งของการผลิตปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงบำรุงพันธุ์ การจัดการและการผลิตด้านอาหารสัตว์ การจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาลสัตว์ เพื่อการป้องกันโรค ตลอดจนการจัดการด้านผลิตผลและผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิตสัตว์ในรูปของ เนื้อ นม ไข่ พร้อมด้วยการจัดการของเสียในฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตอาหารโปรตีนจากสัตว์ที่มีคุณภาพ และเพียงพอต่อความต้องการผู้บริโภค
สัตวบาลเป็นผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลกระบวนการผลิตสัตว์ และจัดการงานด้านต่างๆ เนื่องจากการผลิตอาหารปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ สัตวบาลจึงเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบอย่างสูงต่อกระบวนการผลิตอาหาร ตั้งแต่ต้นทางจนไปถึงการจัดการผลิตผลและผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องตามหลักสุขอนามัย เพื่อให้ได้อาหารที่ปลอดภัย และตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่จะนำไทยไปสู่การเป็นครัวโลก
ฉะนั้นการผลิตสัตว์จะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ 3 ประการ คือ
1. โดยเริ่มจากการเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์ดี มาจากพ่อแม่พันธุ์ที่ดี ให้ผลผลิตต่อเนื่องสม่ำเสมอ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย มีลักษณะการถ่ายทอดพันธุกรรมไปยังรุ่นลูกได้สูงสุด
2. ปัจจัยด้านอาหาร ควรเลี้ยงสัตว์ด้วยอาหารที่ดี สารอาหารครบถ้วน ตามความต้องการของสัตว์ ในแต่ละระยะการเจริญเติบโตของสัตว์ รวมถึงต้องรู้วิธีการให้อาหารอย่างถูกต้อง เพื่อให้สัตว์ที่เลี้ยงมีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ซึ่งสัตวบาลก็ต้องรู้สูตรการจัดการอาหารด้วย เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ 70-80% จะเป็นค่าอาหาร การที่ผู้เลี้ยงจะสามารถลดต้นทุนค่าอาหารให้มีประสิทธิภาพและได้คุณภาพอาหารที่ดีโปรตีนสูง โดยต้องเลือกวัตถุดิบที่มีตามฤดูกาล เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและต้นทุนการเลี้ยงต่ำ
3. การจัดการ ต้องมีการจัดการฟาร์มที่ดี หากรู้ถึงหลักการจัดฟาร์มที่ดีแล้วจะส่งผลทำให้ผู้เลี้ยงสามารถประหยัดเวลาในการเลี้ยงได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้ประโยชน์จากที่ดินและโรงเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงปัญหาของมลภาวะที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น กลิ่นเหม็นเน่าของมูลสัตว์ที่มีมาก รวมไปถึงการป้องกันเรื่องโรคระบาด ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพสัตว์ที่เลี้ยง ปัจจัยดังกล่าวนี้จะรวมไปถึงเรื่องของการสุขาภิบาลที่ต้องเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือการที่นำเอาเชื้อโรคไปเข้าไปในฟาร์ม อาจติดเข้าไปทางรองเท้า หรือเสื้อผ้าของผู้เลี้ยงเอง ดังนั้นผู้เลี้ยงต้องมีการเปลี่ยนเสื้อผ้า รองเท้าและจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าหรือออกจากฟาร์ม เพื่อป้องกันการเกิดโรคให้น้อยที่สุด
ซึ่งปัจจัยที่กล่าวข้างต้นมีปัจจัยเชื่อมโยงกันหมด คือถ้าเลี้ยงสัตว์ที่มีพันธุกรรมที่ดี แต่หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมก็ส่งผลให้สัตว์ที่เลี้ยงไม่สามารถให้ผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกันข้ามหากนำสัตว์ที่มีพันธุกรรมที่ไม่ดีมาเลี้ยง โดยให้อาหารที่มีคุณภาพสูงเพียงใด สัตว์ก็ไม่สามารถให้ผลผลิตที่ดีที่สุดได้เช่นกัน
ดังนั้นการผลิตสัตว์ควรตระหนักถึงความสำคัญของปัจจัยพื้นฐานทั้ง 3 ประการ (สายพันธุ์ อาหาร และการจัดการ) ให้ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกันเพื่อที่การผลิตสัตว์จะได้ผลดีที่สุดและส่งทำให้ผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ทั้งทางด้านคุณภาพและปริมาณ อย่างไรก็ตามการด้อยในส่วนใดส่วนหนึ่งจะมีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตสัตว์ทันที
Sponsored : คลิกเลย