ช่วงนี้คนไทยต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการสั่งซื้อเนื้อหมูผ่านช่องทาง “ออนไลน์” เพราะมีเครือข่ายผู้บริโภคแจ้งเตือนสมาชิกทางโซเชียลทั้งผู้บริโภค ร้านอาหาร ร้านหมูกระทะและร้านค้าเนื้อหมู ให้หยุดซื้อ “ขยะหมูเถื่อน” มาขายต่อ การสั่งซื้อในช่วงนี้จึงเสี่ยงจะได้สินค้าไม่ตรงปก ส่วนใหญ่ได้รับสินค้าเป็นเนื้อที่เก็บไว้นานจนคุณภาพเสื่อม เพียงเพราะหลงกลผู้ขายที่เสนอราคาต่ำกว่าหมูไทยที่ปลอดภัยกว่าถึง 50% โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องใช้หมูในปริมาณมากต้องการลดต้นทุนและทำกำไรเพิ่มขึ้น
เครือข่ายผู้บริโภคดังกล่าว ให้รายละเอียดราคาหมูด้อยคุณภาพราคาถูกผ่านออนไลน์ ว่า สันคอหมูขาย 90-100 บาทต่อกิโลกรัม แต่มาพร้อมของแถมคือ มีกลิ่น ติดเขียว ติดเหลือง ขึ้นรา มีทั้งที่ขายเป็นชิ้นและที่นำไปแปรสภาพรีแพคขาย เทียบกับเนื้อหมูคุณภาพดีราคาขายปลีกอยู่ที่ 150-170 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม มีการเตือนผู้บริโภค ว่า “แค่คุณหยุดซื้อเขา เขาก็ต้องทิ้ง ถ้าคุณสนับสนุนเขาเท่ากับคุณส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยง เชื้อราสะสมตายไม่รู้ตัว สารพัดเชื้อรา” ซึ่ง “หมูพิษ” เหล่านี้ ต้นทุนมาแค่ 30 บาทต่อกิโลกรัม แล้วมาขายส่ง 85-95 บาทต่อกิโลกรัม มีผู้ซื้อบางรายได้รับความเสียหายมากกว่า 100,000 กิโลกรัม ตลอดจนแนะนำผู้ซื้อและผู้บริโภคให้เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือโรงงานที่ดีและสังเกตราคาเห็นหลัก
ตั้งแต่ปี 2565 – ปัจจุบัน หมูเถื่อนที่ลักลอบเข้ามายังคงซุกซ่อนอยู่ตามห้องเย็นในจังหวัดต่างๆ จำนวนมาก และจำเป็นต้องเร่งระบายของผิดกฎหมายหนีการจับกุมช่วงนี้ เนื่องจากมีการตรวจค้นและปราบปรามหมูเถื่อนของกรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเข้มงวด การกระจายสินค้าจึงไม่สะดวกเช่นที่ผ่านมา ประกอบกับราคาหมูไทยคุณภาพดีทยอยออกสู่ตลาดบางส่วน ทำให้ราคาปรับตามกลไกตลาด ไม่ร่วงลงเหมือนช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เพราะถูกหมูเถื่อนแทรกแซงตลาดบิดเบือนราคาจนหมูหน้าฟาร์มตกต่ำเหลือเพียง 70-76 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 98 บาทต่อกิโลกรัม
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เป็นแกนนำผู้เลี้ยงหมูทั่วไทยเรียกร้องให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมมือกันปราบปรามหมูเถื่อนมาแรมปี พร้อมทั้งให้เบาะแสช่องทางการเข้ามาของ “ขยะหมูเถื่อน” ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูให้รอดพ้นจาก “หายนะ” ราคาตกต่ำ จนต้องเลิกกิจการไป ตลอดจนปกป้องผู้บริโภคจากเนื้อสัตว์ปนเปื้อน (ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐาน) อาจติดโรคระบาดและก่อให้เกิดโรคระบาดสัตว์ และโรค ASF ในประเทศซ้ำได้ ซึ่งหมูเหล่านี้ประเมินว่ามีการเก็บมานานไม่น้อยกว่า 8-9 เดือน และการเก็บรักษาอาจไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เกิดสารพิษได้ ผู้บริโภคมีโอกาศได้รับเชื้อโรคและพิษทันที
วันนี้ “หมูเถื่อน” ถูกยกเป็น “ประเด็นร้อน” กับว่าที่รัฐบาลใหม่ โดยกลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายเล็กจาก 4 จังหวัด ยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้พรรคก้าวไกล แก้ปัญหาเนื้อหมูเถื่อนหลังราคาตกต่ำอย่างหนัก ซึ่งเกษตรกรพุ่งเป้าไปที่การตรวจสอบหมูเถื่อนยังมีเข้ามาอีกหรือไม่ และการตรวจสอบมีความรัดกุมแค่ไหน ตลอดจนการดูแลราคาในภาพรวมเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูฟาร์มของเกษตรกรมีแนวทางอย่างไร ให้เกษตรกรมั่นใจนำหมูเข้าเลี้ยงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน เป็นปัญหาใหญ่มาก กระทบกับสุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชนทั้งประเทศ ท่ามกลางเสียงเตือนจากภาคประชาชนซ้ำๆ ย้ำๆ แบบนี้ หากยังปล่อยปละ จนเกิดโรคระบาดขึ้น กรมศุลกากรคงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้
สมิง วงศ์รามัญ ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์