ข่าว (News) นานาปศุสัตว์ (Animal News) วิชาการปศุสัตว์ (Livestock Article)

อาหารสำเร็จรูป VS ผสมเอง อย่างไหนตอบโจทย์ชาวปศุสัตว์ – ปศุศาสตร์ นิวส์

อาหารสำเร็จรูป VS ผสมเอง! ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ตระหนักถึงต้นทุนด้านอาหารสัตว์กันมากขึ้น เพราะสัตว์ที่เลี้ยงต้นทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ค่าอาหารเป็นหลัก โดยในสัตว์ปีกใช้มากถึง 70% ทำให้หลายๆ คนมองหาแหล่งอาหารสัตว์ที่มีต้นทุนถูกลง เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทว่าในปัจจุบันมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ “การผสมอาหารใช้เอง” โดยใช้หลักความน่าจะเป็นกับการเทียบสูตรให้ได้โภชนตามที่สัตว์ต้องการ และ “อาหารสำเร็จรูป” ของแต่ละบริษัท

ฉะนั้นการที่จะใช้อาหารรูปแบบไหน? หรือแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบการตัดสินใจของเกษตรกร เราจึงนำบทความที่เปรียบเทียบถึงความแตกต่าง พร้อมสอดแทรกวิธีการแก้ปัญหา ดังนี้

1. ความสม่ำเสมอของโภชนะอาหารสัตว์

– อาหารผสมเอง ความสม่ำเสมอขึ้นอยู่กับการจัดการ ต้องมีการวางแผนเรื่องการหาวัตถุดิบมาผสมอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 1-2 เดือน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาวัตถุดิบอาหารไม่เหมือนเดิม ส่งผลต่อการกินของสัตว์ที่ลดลง และส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้วย หากหาไม่ทันก็จะทำให้เกิดการขาดช่วงก็จะส่งผลต่อผลผลิตเช่นกัน สำหรับวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะที่หามาเองจากธรรมชาติ ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้อาหารแต่ละมื้อ แต่ละวันใกล้เคียงกันมากที่สุด

– อาหารสำเร็จรูป หากเลือกซื้ออาหารจากบริษัทที่น่าเชื่อถือได้ เขาก็จะผลิตอาหารออกมาอย่างต่อเนื่อง สั่งสต็อกไว้ไม่ต้องเยอะมากได้ เพื่อคงความสดใหม่ สัตว์จะได้กินอาหารที่ไม่ค้างเก่านาน เพราะที่กระสอบอาหารจะมีแจ้งล็อตการผลิต ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าอาหารนั้นผลิตมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ข้อควรระวัง และสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้คือ วัตถุดิบที่นำมาใช้ผสมทำอาหารสำเร็จ จะมีการเปลี่ยนแปลง หรือใช้วัตถุดิบทดแทนอย่างไรบ้าง

2. ราคาวัตถุดิบ/ต้นทุนอาหารสัตว์

– อาหารผสมเอง ราคาถูกกว่า และเกษตรกรสามารถเลือกสรรวัตถุดิบมาผสมเองได้ สามารถรู้แหล่งต้นทางของวัตถุดิบอาหารที่หามาเองได้ ซึ่งจะทำให้การคำนวณค่าอาหารได้ง่าย สามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบได้ในระหว่างการเลี้ยงสัตว์ เมื่อมีวัตถุดิบบางชนิดแพงหรือถูกกว่า

– อาหารสำเร็จรูป ราคาค่อนข้างสูงกว่า เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ต้องจ่ายให้กับบริษัท ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าผสม ค่าอุปกรณ์เครื่องมือการผสมต่างๆ รวมถึงค่าขนส่งด้วย แต่ว่าข้อดีคือ ง่ายต่อการจัดการ เพราะไม่ต้องเสียเวลาผสมอาหารเอง ไม่ต้องกังวลเรื่องการหกหล่นของอาหาร เพราะอาหารที่มาจากบริษัทจะถูกบรรจุอยู่ในกระสอบ หรือใส่เบ้าท์อย่างดี

3. ความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อตัวสัตว์

– อาหารผสมเอง หากมีการปนเปื้อนเชื้อ หรือสิ่งแปลกปลอมระหว่างการผสม อาจส่งผลให้สัตว์เสี่ยงต่อการป่วย หรือเกิดโรคอันไม่พึงประสงค์ได้ เช่น เกิดเชื้อราในอาหาร ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบแหล่งที่มาและการเก็บรักษาให้ดี

– อาหารสำเร็จรูป จะมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะเครื่องมือการผสมจะมีการควบคุมการทำงานด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย และควบคุมการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ใช่ว่าจะไว้ใจได้เช่นกัน เพราะทุกอย่างย่อมเกิดเหตุฉุกเฉินได้เสมอ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทเกษตรกรควรมีการตรวจเช็คสภาพอาหารภายนอกเบื้องต้นอยู่เสมอ

4. ความสะดวก/เวลาในการใช้

– อาหารผสมเอง เกษตรกรต้องสละเวลา ไม่ตัวเองก็ต้องจ่ายค่าจ้างคนงานผสมอาหาร แต่หากไม่ติดปัญหาเรื่องนี้ก็สามารถทำได้

– อาหารสำเร็จรูป สะดวกต่อการใช้งานมากกว่า แต่เกษตรกรจะเสียเงินแพงกว่าผสมอาหารเอง

5. การเก็บรักษา

– อาหารผสมเอง อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เกษตรกรต้องมีการวางแผนเช็คสต็อก เตรียมวัตถุดิบที่จะนำมาผสมอาหารให้ดี และควรมีโรงเก็บอาหารที่มิดชิด ไม่เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหาย อายุการใช้งานขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของวัตถุดิบอาหารล็อตนั้นๆ ด้วย

– อาหารสำเร็จรูป การเก็บรักษาทำได้สะดวก แค่ระวังเรื่องสัตว์พาหะที่จะเข้าไปกัดกินอาหารสัตว์เท่านั้น อายุการใช้งานสามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเลือกใช้อาหารในรูปแบบใดก็ตาม ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม โครงสร้างการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรด้วย รวมถึงจุดคุ้มทุน หากเลี้ยงแล้วขาดทุนถามว่าจะเลี้ยงทำไม ? ลองทบทวนดูว่าจริงหรือไม่? ยกตัวอย่างเช่น หากจำนวนตัวสัตว์ที่เกษตรกรเลี้ยงไม่มาก ผสมอาหารเองมองว่าคุ้มกว่าก็ควรทำ อีกอย่างสามารถเลือกสรรวัตถุดิบอาหารเองได้ แต่หากเลี้ยงในจำนวนมากก็ต้องคำนึงถึงความสะดวก เวลา และความพร้อมของเกษตรกรเองด้วยว่าหากต้องมีการผสมอาหารใช้เอง คิดว่าจะไหวหรือไม่?

ขอขอบคุณ : คุณกันย์ชิสา กรณ์ธรไพศาล (นิ้ง)

 

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com