เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี จำนวน 14 ฟาร์ม เดือดร้อนหนัก ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ที่อาคารรัฐสภา ช่วยเหลือ หลังบริษัทคู่สัญญาแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ไม่ปฏิบัติตามกฏหมายเกษตรพันธสัญญา กรณีจับหมูจากฟาร์มไปแล้วกว่า 30,500 ตัว แต่เกษตรกรยังไม่ได้รับการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นเวลาร่วม 4 เดือนแล้ว ทำให้เกษตรกรฟาร์มหมูเกิดความเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถผ่อนชำระหนี้กับทางธนาคารได้
โดยนายคำพอง เทพาคำ โฆษกคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ได้รับเรื่องร้องเรียนของเกษตรกรไว้ เพื่อนำเรื่องให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาให้การช่วยเหลือต่อไป
ทั้งนี้เรื่องที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ร้องเรียนขอความเป็นธรรม สืบเนื่องมาจากได้รับการปฎิบัติที่ไม่เป็นธรรม อาทิ
1. การชั่งน้ำหนักสุกรที่ไม่โปร่งใส เช่น ไม่ได้ชั่งน้ำหนักสุกรจากหน้าฟาร์มไป และได้นำสุกรออกจากฟาร์มไปพักไว้ที่โรงพักสุกรที่บริษัทจัดเตรียมไว้ก่อนนำไปชั่งขาย จึงทำให้มีการเกิดน้ำหนักสูญเสียที่ค่อนข้างมาก ทำให้สุกรมีน้ำหนักลดน้อยลง เป็นเหตุให้ทางฟาร์มเสียหาย
2. การตัดน้ำหนักสุกรไข่ที่ไม่ได้มาจากความผิดของฟาร์ม ซึ่งสุกรมาจากบริษัทที่จัดส่งมาให้ ทำให้ทางฟาร์มได้รับผลตอบแทนที่น้อยลงอีกเป็นจำนวนมาก
3. อาหารสุกรที่ทางบริษัทจัดส่งมาให้ ไม่ได้อยู่ในสัญญาเป็นจำนวนมาก และราคาแพงกว่าในสัญญา เป็นเหตุให้ทางฟาร์มมีต้นทุนของสุกรเพิ่มขึ้น และผลตอบแทนที่น้อยลงอย่างมาก
4. การจับสุกรที่เกินเวลา ล่าช้า กว่ากำหนดในสัญญา ทำให้ทางฟาร์มต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการกินอาหารที่มากขึ้น และค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าคนงาน ที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ทางฟาร์มเสียหาย ซึ่งค่าใช้จ่ายในระหว่างการจับหมูเกินกำหนดระยะเวลา ค่อนข้างสูงมาก ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีก
5. ราคาสุกรที่ไม่เป็นไปตามสัญญา บริษัทได้ทำการจับหมูของทางฟาร์มออกไป และ ราคาที่ส่งให้ทางฟาร์มไม่เป็นไปตามสัญญาที่ระบุไว้ ซึ่งสุกรที่ระบุไซส์ขนาดน้ำหนักไว้ในสัญญาได้ราคาที่น้อยกว่า ราคาไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้ทางฟาร์มได้รับผลตอบแทนน้อย เสียหาย และขาดทุนเป็นจำนวนเงินที่มาก
6. การจ่ายผลตอบแทนที่ไม่มีความชัดเจนของวันเวลา ทำให้ทางฟาร์มเสียหายในธุรกรรมด้านการเงินกับทางธนาคารดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เครดิตที่ต้องเสียไป ดอกเบี้ย ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น เงินที่ต้องจ่ายให้กับคนงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งทางฟาร์มได้แจ้งความประสงค์กับบริษัทไปแล้ว ทำให้ทางฟาร์มได้รับความเสียหายและความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จากการที่บริษัทล่าช้าและไม่ทำตามสัญญาที่ระบุไว้
7. ราคาวัคซีนที่ไม่ระบุราคา ไม่ชี้แจงราคาวัคซีนแต่ละตัวที่ฉีดให้กับสุกร และได้ทำการสรุปราคาวัคซีนมาที่ค่อนข้างสูงมาก จึงทำให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก

ขอขอบคุณข้อมูล : พรรคก้าวไกล กาญจนบุรี