ข่าว (News) นานาปศุสัตว์ (Animal News)

เกษตรกรยังอ่วม แนะรัฐปล่อยราคาตามกลไก – ปศุศาสตร์ นิวส์

รู้สึกดี…เมื่อเห็นข่าวรัสเซียและยูเครนลงนามบันทึกข้อตกลงส่งออกธัญพืชในวันศุกร์ 22 ก.ค. ณ พระราชวังโดลมาบาห์เชในนครอิสตันบูลของตุรกี ภายใต้จุดประสงค์เพื่อช่วยคลี่คลายวิกฤตอาหารทั่วโลก  การทำข้อตกลงนี้ทำให้ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าธัญพืชอย่างข้าวสาลีในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ CBOT ลดลงทันทีถึง 5.09% ส่วนสัญญาข้าวโพดลดลง 0.57% เป็นแนวโน้มที่ดีว่าวิกฤตอาหารอาจคลี่คลาย

แต่แล้วถัดมาเพียงวันเดียว รัสเซียก็ส่งขีปนาวุธเข้าโจมตี “ท่าเรือโอเดสซา” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามศูนย์กลางการส่งออกที่กำหนดไว้ในข้อตกลงส่งออกธัญพืชของยูเครน เล่นเอาทั่วโลกตะลึงและงงงันไปกับการกระทำนี้ แม้รัสเซียจะอ้างว่าพุ่งเป้าโจมตีไปที่โครงสร้างพื้นฐานทางทหารโดยเฉพาะ และไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงในการส่งออกธัญพืช แต่มันก็ทำให้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นทันทีโดยราคาสัญญาล่วงหน้า ข้าวสาลี ที่มีการซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ CBOT พุ่งขึ้น 3% สู่ระดับ 7.8 ดอลลาร์/บุชเชล ในวันที่ 25 กค.65

เห็นข่าวแล้วก็ได้แต่คิดว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” สงครามยังไม่ยุติอย่าคิดว่าราคาวัตถุดิบจะลดลง และแน่นอนว่าเกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ “ต้องทำใจ” กับภาระต้นทุนการผลิตที่จะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องไปอีกจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าสงครามจบแล้วจริงๆ




ไม่เพียงเท่านั้น นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยยังตอกย้ำให้ต้องทำใจซ้ำสอง เพราะนอกเหนือจากสงครามแล้ว ปัญหาเงินบาทที่อ่อนค่าลง 10% จาก 33 เป็น 36 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบต่างๆสูงขึ้น ซึ่งท่านนายกฯก็คาดการณ์ให้เลยว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะยังคงสูงไปตลอดครึ่งปีหลัง

เมื่อเห็นแนวโน้มต้นทุนแล้วจะมีแรงจูงใจอะไรให้เกษตรกรกล้าที่จะลงมือเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ ทำหน้าที่ผลิตอาหารให้ผู้บริโภคต่อไป สิ่งนั้นคงหนีไม่พ้นการขายผลผลิตได้ในราคาเกินต้นทุน เพราะไม่มีใครอยู่รอดได้หากทำไปแล้วเข้าเนื้อ ดังเช่นที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกมาเตือนรัฐบาลให้เลิกคุมราคาสินค้า เพื่อให้เกษตรกรและผู้ผลิตยังคงมีแรงผลิตสินค้าให้ผู้บริโภค ซึ่งเขาจะทำตราบเท่าที่ยังสามารถขายของได้ในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น

“อนาคตหากยังคุมราคาสินค้า ที่สุดแล้วสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคจะขาดแคลน จะมีราคาที่สูงขึ้น คุณภาพสินค้าจะลดลง รัฐควรค่อยๆ ปล่อยให้สินค้าต่างๆที่ต้นทุนสูงขึ้น ภาระเพิ่มขึ้นได้ปรับขึ้นราคาได้แล้ว เพราะเมื่อต้นทุนสูงขึ้นแต่เพิ่มราคาไม่ได้ ที่สุดผู้ประกอบการก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะผลิตสินค้าป้อนตลาด ก็ลดกำลังการผลิต สินค้าก็จะมีราคาแพง สินค้าขาดแคลน จะเกิดความตระหนกและแห่กักตุนสินค้าในที่สุด” ดร.นิพนธ์ กล่าวและย้ำว่า ภาครัฐต้อง “เลิกควบคุมราคาอาหาร” และ ท่องสูตรราคาแพงดีกว่าขาดตลาด เพราะเกษตรกรจะมีแรงจูงใจเพิ่มการผลิตอย่างรวดเร็วเหมือนในอดีต และราคาก็จะลงเองตามธรรมชาติ ดังบทเรียนราคาข้าวแพงในปี 2551 แต่ราคากลับสู่ปกติภายใน 6 เดือน

นอกเหนือจากคำแนะนำของผู้รู้ และการทำใจของเกษตรกรแล้ว ผู้บริโภคเองก็ควรเปิดใจและทำความเข้าใจด้วยว่า “การคุมราคา” ไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับผู้บริโภค ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิต และไม่ใช่ทางที่ถูกต้องสำหรับเกษตรกร แต่ การค้าเสรีและปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ต่างหากเป็นหนทางที่ดีที่สุด ที่จะช่วยแก้ปัญหาราคาอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

โดย : สามารถ สิริรัมย์




 

 

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com