กระแสปศุสัตว์ (Trends) สัตว์ปีก (Poultry)

เกษตรกรไทยมีหนาว ผู้ผลิตไข่ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นลงทุนไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่าไข่ไก่เป็นสินค้าชุมชน เป็นธุรกิจดั้งเดิมที่อยู่คู่คนไทยมานาน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทำหน้าที่ผลิตไข่ให้คนในประเทศได้รับประทานและเป็นอาชีพที่แต่ละประเทศจะหวงแหนไว้ให้คนในประเทศใช้ทำมาหากิน….

“ไข่ไก่” ไม่ใช่สินค้าส่งออก และในแต่ละวันประเทศไทยจะมีผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดวันละประมาณ 48 ล้านฟอง ขณะที่อัตราการบริโภคอยู่ที่ 40 ล้านฟอง แสดงว่าในทุกๆ วัน ประเทศเราก็มีไข่ส่วนเกินเกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นที่มาของระดับราคาไข่ที่ทุกฝ่ายต่างต้องเร่งช่วยกันดำเนินมาตรการจัดการซัพพลายเหล่านี้ลงในระดับที่เหมาะสม เพื่อพยุงราคาขึ้นมาไม่ให้เกษตรกรต้องเดือดร้อน นี่เป็นวัฏจักรของไข่ไก่ที่มีขึ้นมีลงตามอุปสงค์อุปทานแต่ละช่วง

แต่แล้วจู่ๆ ข่าววงในของแวดวงไข่ไก่ก็มีกระแสออกมาว่า ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตไข่อันดับ 1 ของญี่ปุ่น อิเซ (ISE) ได้ยื่น BOI ขอลงทุนสร้างฟาร์มไก่ไข่ขนาดมหึมาเลี้ยงไก่ราว 1-2 ล้านตัวในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไข่แหล่งใหญ่ของประเทศไทย เสียงลือเสียงเล่าอ้างดังมาจากแถวๆ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยแว่วว่าเกิดจากการชักชวนของบริษัทผู้ผลิตไข่อันดับสองของไทยที่คิดชักศึกเข้าบ้าน หวังเพียงจะขายลูกไก่จำนวนมหาศาลให้พันธมิตรยุ่น รวยเร็วกว่าขายทีละนิดให้เกษตรกรลูกเล้าของตน โดยลืมมองไปว่ากำลังพาหายนะมาทุบหม้อข้าวตัวเอง

ส่วนแบ่งตลาดไข่ไก่ในบ้านเราส่วนใหญ่แล้วเป็นของเกษตรกรในนามของสหกรณ์จังหวัดต่างๆ อาทิ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ฉะเชิงเทรา สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีสมาชิกสหกรณ์ที่เป็นทั้งเกษตรกรรายย่อยและผู้เลี้ยงไก่ไข่รายกลาง ถามว่า ถ้ายักษ์ใหญ่ อิเซ (ISE) เข้ามาด้วยปริมาณแม่ไก่ 1 ล้านตัว แม่ไก่จะออกไข่ทุกวันๆ ละฟอง คร่าวๆ ก็จะมีไข่ไก่ออกสู่ตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยวันละ 9 แสน – 1 ล้านฟอง ไข่เหล่านี้คือสิ่งที่จะออกมาซ้ำเติมปริมาณไข่ส่วนเกินของตลาดไข่ไก่บ้านเรา แล้วเกษตรกรรายย่อยทั้งหลายที่เลี้ยงไก่ไข่กันแค่คนละ 5,000 – 10,000 ตัว จะเอาอะไรไปสู้ไปแข่ง ระดับราคาที่บ่นกันหนักหนาว่าตกต่ำอยู่เรื่อย มันจะยิ่งต่ำเตี้ยเรี่ยราดขนาดไหน และสุดท้าย ยักษ์ยุ่นที่สายป่านยาวมากๆ ย่อมอดทนต่อภาวะขาดทุนได้นานกว่า รอจนเกษตรกรไทยหายไปทีละฟาร์มสองฟาร์ม จึงจะเป็นเวลาที่ อิเซ (ISE) จะทำกำไรจากคนไทยทั้งประเทศ

ประชากรไทยก็มีเพียงเท่านี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไข่ไก่บ้านเราไม่เคยขาดแคลนจนไม่เพียงพอต่อการบริโภค การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานไข่ไก่ ภายใต้การกำกับดูแลของ Egg Board ก็กำลังเป็นไปด้วยดี … ภาครัฐที่ เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง กรมปศุสัตว์รับทราบข่าวร้ายวงการไข่ข่าวนี้แล้วหรือยัง อยากถามว่าท่านจะจัดการเช่นไร เตรียมรับมือสถานการณ์โหดร้ายนี้อย่างไร และอาจต้องถามไปถึง BOI ด้วยซ้ำว่า การที่จะอนุมัติการลงทุนของใครหน้าไหน ท่านก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องดูบริบทของอุตสาหกรรมนั้นๆ ในบ้านเราเลยเช่นนั้นหรือ

แต่ที่ต้องตำหนิที่สุด ก็เห็นจะเป็นบริษัทคนไทยที่ไม่ประเมินสถานภาพวงการไข่ไก่บ้านเรา มุ่งแต่จะทำกำไรระยะสั้น ผิดกับพี่ยุ่นที่เห็นกำไรระยะยาว จึงขนเงินมาลงทุนบ้านเรา ย้ำว่าไข่ไก่ไม่ใช่สินค้าส่งออก และไม่มีทางที่อิเซ (ISE) จะผลิตไข่เพื่อขนกลับไปขายในประเทศญี่ปุ่น แต่เขาจะดั้มพ์ไข่ทั้งหมดลงที่ประเทศของเรานี่ล่ะ …แล้วใครบ้างต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่า…มารอดูกัน

ที่มา : สยามรัฐ

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com