สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในโค กระบือ ปัจจุบันหลายพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น จากการดำเนินการฉีดวัคซีน และมาตรการป้องกันโรคดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเคลื่อนย้ายโค กระบือ ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แต่ยังคงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคลัมปี สกิน
ล่าสุดนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ออกหนังสือแจ้งปศุสัตว์เขต 1-9 และปศุสัตว์ทุกจังหวัด เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคลัมปี สกิน โดยระบุว่า
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ตามแผนการฉีดวัคซีนของกรมปศุสัตว์ ซึ่งภาพรวมผลการดำเนินการฉีดวัคซีน ร้อยละ 94.45 เปอร์เซ็นต์ และสามารถดำเนินการควบคุม ป้องกันโรคลัมปี สกิน ตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนดแล้วนั้น เพื่อให้การควบคุม ป้องกันโรคระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน กรมปศุสัตว์จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแนวทางเคลื่อนย้ายโค กระบือ ดังนี้
1. ให้จังหวัดที่เกิดโรคและจังหวัดที่อยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตร จากจุดเกิดโรค ดำเนินการดังนี้
(1) ปศุสัตว์อำเภอตรวจสอบสัตว์ที่เข้าโรงฆ่าเพื่อตรวจหารอยโรคของโรคลัมปี สกิน และความถูกต้องของการเคลื่อนย้ายเป็นไปตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเคลื่อนย้าย โดยให้ปฏิบัติตามประกาศปศุสัตว์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขขออนุญาตและการออกใบอนุญาต และการทำลายเชื้อโรคในการนำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่อื่น พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัด หากพบความผิดปกติให้แจ้งดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
(2) กำหนดให้การเคลื่อนย้ายโค กระบือ เข้าโรงฆ่าสัตว์ภายในจังหวัดเท่านั้น ส่วนกรณีอื่นๆ อาทิเช่น เข้าโรงฆ่าสัตว์ข้ามจังหวัด เลี้ยงทำพันธุ์ เลี้ยงขุน และส่งออกไปต่างประเทศ เป็นต้น ให้ขอความเห็นชอบจากปศุสัตว์จังหวัด ก่อนออกใบอนุญาตเคลื่อนย้าย
(3) โค กระบือ ที่เข้าโรงฆ่าสัตว์ ต้องให้พนักงานตรวจโรคสัตว์ทำการตรวจโรคสัตว์ก่อนการฆ่า โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559
(4) กรณีเคลื่อนย้ายโค กระบือ เข้าในหรือผ่านเขตควบคุมโรคระบาดชนิดปากและเท้าเปื่อยในภาคใต้ของประเทศไทย ให้เป็นไปตามมาตรการการเคลื่อนย้ายของกองสารวัตรและกักกันสัตว์และให้ขอความเห็นชอบจากปศุสัตว์จังหวัด ก่อนออกใบอนุญาตเคลื่อนย้าย
2. ให้จังหวัดที่อยู่นอกพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค ดำเนินการตังนี้
(1) กำหนดให้การเคลื่อนย้ายโค กระบือ เข้าโรงฆ่าสัตว์ภายในพื้นที่ปศุสัตว์เขตเดียวกัน
(2) การดำเนินการอื่นๆ เป็นไปตามข้อ 1 (1) – (4)
3. เมื่อดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว ให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแจ้งไปยังสัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทาง โดยวิธีด่วนที่สุด เช่น โทรสาร จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ทางระบบอินเตอร์เน็ต หรือวิธีการอื่นๆ และให้ออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายโค กระบือ ให้แก่ผู้ขออนุญาต โดยแนบบันทึกขอความเห็นชอบจากปศุสัตว์จังหวัด เพื่อให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทางตรวจสอบความถูกต้อง