จังหวัดเพชรบุรีประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ชนิด สุกร หรือหมูป่า เข้า-ออก หรือนำผ่าน เขตเฝ้าระวังโรคระบาด เนื่องจากยังพบการระบาดของโรคดังกล่าวในหลายประเทศทั่วโลก และประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โดยประกาศระบุเรื่องว่า กำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ในสัตว์หรือซากสัตว์ชนิดสุกร หรือหมูป่า
ตามที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้รายงานพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ในหลายประเทศทั่วโลก จำนวนทั้งหมด 34 ประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากเกิดการระบาดของโรคดังกล่าวภายในประเทศ จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมการผลิตสุกรอย่างรุนแรง
ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และลดความเสียหายที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ในจังหวัดเพชรบุรี เป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ในสัตว์หรือซากสัตว์ชนิดสุกร และหมูป่า
ข้อ 2 ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ ตามข้อ 1 เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตเฝ้าระวังโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์พ.ศ. 2558
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564
นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์
ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี