ข่าว (News) วิชาการปศุสัตว์ (Livestock Article) สุกร (Pig)

“เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต”ของลูกสุกร ในแม่ลูกดก!!

HIGH LITTER SIZE WITH HIGH PIGLET SURVIVAL “เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต” ในแม่ลูกดก

วิธีการที่ดีในการ “เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต” ของลูกสุกร เพื่อให้ได้จำนวนลูกหย่าต่อแม่นั้น มีปัจจัยหลักคือ แม่สุกรที่เลี้ยงลูกนั้นต้องสุขภาพดี ซึ่งจะต้องให้อาหารที่เหมาะสมและการจัดการที่ถูกต้องตลอดระยะเวลาเลี้ยงลูก ถึงแม้ว่าการปรับเปลี่ยนการจัดการในแม่ที่ให้ลูกดกนั้นจะเห็นผลช้าและไม่ง่ายเลย แต่ถ้าเราจัดการได้ถูกวิธีจะช่วยทำให้ผลผลิตของฝูงดีขึ้นได้แน่นอน

การช่วยให้ได้ลูกมีชีวิตที่มากขึ้นนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนคลอด โดยย้ายแม่รอคลอดที่สุขภาพดีให้อยู่ในสภาพอากาศที่เหมาะสม และย้ายให้ถูกเวลาก่อนถึงกำหนดคลอด ซึ่งแม่รอคลอดควรได้รับอาหาร 3.3-4.0 กิโลกรัมต่อวัน จนกว่าจะคลอด โดยให้เป็นเวลาอาจจะ 3 มื้อ หรือมากกว่านั้น และในอาหารควรมีปริมาณไฟเบอร์(แบบละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ) 500-600 กรัมต่อวัน อีกทั้งการมีคนเฝ้าคลอดเพื่อช่วยทำคลอดและดูแลลูกแรกเกิดที่ตัวเล็กนั้น ก็สามารถช่วยเพิ่มการรอดชีวิตของลูกสุกรได้

ซึ่งระหว่างการคลอด สิ่งสำคัญคือลูกทุกตัวต้องได้รับนมน้ำเหลืองและความอบอุ่น โดยต้องมั่นใจว่าลูกสุกรได้รับนมน้ำเหลืองอย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถทำได้โดยการแบ่งลูกสุกรให้ดูดนมแม่เป็นกลุ่ม ๆ (Split suckling) หรือย้ายลูกตัวเล็กไปให้แม่ที่มีลูกน้อยแต่ยังมีนมน้ำเหลืองอยู่ อีกทั้งการเกลี่ยจำนวนลูกหรือจัดไซส์ลูกควรทำให้เสร็จภายใน 8 ชั่วโมง และอาจช่วยโดยการเปิดไฟกกในกล่องกกหรือพื้นที่ที่ลูกนอน และหลังคลอดที่เป็นแบบแผนและสามารถทำได้จริง สาเหตุการตายของลูกสุกรแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ทั่วโลก อย่างเช่นในเดนมาร์ก 3 อันดับสาเหตุที่ทำให้ลูกสุกรอายุ 4 วันแรกตาย เกิดจากโดนแม่ทับ 47% เกิดจากขาดนมหรือพลังงาน 18% และเกิดจากอ่อนแอตาย 18% ส่วนในลูกอายุ 5 วันจนถึงหย่านม มักตายจากติดเชื้อในกระแสเลือด 31% ลูกป่วย ไม่แข็งแรง 13% และโดนทับ 13%

ค่าเฉลี่ยจำนวนลูกทั้งหมดของแม่สุกรสายพันธุ์เดนมาร์กในปัจจุบันสูงถึง 19.4 ตัว/แม่ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งการที่มีจำนวนลูกเยอะขึ้นทำให้พบลูกตัวเล็กที่น้ำหนัก 400-800 กรัม มากขึ้น 1.3% ในปี 2002 จนถึง 10-14% ในปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันความสำเร็จในการทำให้มีลูกมีชีวิตที่อายุ 5 วันนั้น ทำให้ลูกที่ตัวเล็กมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าในอดีต และหากยิ่งใส่ใจหรือปฏิบัติตามการจัดการที่ถูกต้อง จะยิ่งทำให้ลูกสุกรมีโอกาสรอดชีวิตขึ้นอีก

การเปลี่ยนจากลูกตายแรกคลอดเป็นลูกมีชีวิต

60%ของลูกตายแรกคลอด มักตายในระหว่างการคลอด ซึ่ง 60% ของลูกตายแรกคลอด ซึ่งเทียบได้กับลูก 1.1 ตัวต่อแม่นั้น ยังมีชีวิตอยู่ในตอนที่แม่กำลังเริ่มคลอด ซึ่งหากกระบวนการคลอดของแม่เป็นปกติและได้รับการช่วยเหลือในระหว่างคลอด ก็จะทำให้มีโอกาสได้ลูกมีชีวิตเพิ่มขึ้น

กระบวนการคลอดที่ปกติของแม่เริ่มต้นจากสุขภาพแม่รอคลอดที่ดีและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยควรมีค่าความหนาไขมันสันหลัง(Back fat) ในขณะคลอดที่ 16-19 มิลลิเมตร และแม่สุกรควรย้ายเข้าเล้าคลอด 5-7 วันก่อนถึงกำหนดคลอด เพื่อลดความเครียด นอกจากนั้นอาจเสริมหญ้าหรือวัสดุอื่น ที่ช่วยเสริมพฤติกรรมการทำรังในช่วงก่อนคลอดเพื่อลดความเครียดระหว่างคลอดได้เช่นกัน

นอกจากนั้นการให้อาหารก็ส่งผลถึงกระบวนการคลอดของแม่ได้ โดยต้องให้ในปริมาณและสัดส่วนที่ถูกต้อง โดยการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าแม่ที่ได้รับอาหาร 3.3-4.0 กิโลกรัมต่อวัน (ME: 12.9 MJ/kg; 164 g CP/kg) ในช่วงรอคลอด จะทำให้ระยะเวลาระหว่างการคลอดสั้นลง ลูกตายแรกคลอดลดลงและทำให้มีนมน้ำเหลืองมากขึ้น (Feyera et al., 2018) อีกทั้งเวลาในการให้อาหาร เพื่อที่จะคงระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงเพียงพอสำหรับกระบวนการคลอดนั้น ควรให้อย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน โดยแบ่งช่วงเวลาให้เท่าหรือใกล้เคียงกัน เช่น 7.00 น. 15.00 น. และ 20.00 น. ส่วนอาหารที่ให้ก็ควรมีสัดส่วนของไฟเบอร์ที่เหมาะสม เพราะไฟเบอร์สามารถให้พลังงานได้ยาวนานมากกว่าแป้ง จึงแนะนำประมาณ 500-600 กรัมต่อวัน

ในฟาร์มที่มีการทำงาน 24 ชั่วโมงนั้น มีจำนวนลูกตายแรกคลอดที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีการเฝ้าคลอดหรือช่วยคลอดได้ทุกแม่และช่วยให้ลูกที่อ่อนแอได้รับนมน้ำเหลืองอย่างเพียงพอ อีกทั้งการช่วยเกลี่ยลูกมีชีวิตก็ช่วยทำให้ลูกแต่ละตัวได้รับน้ำนมที่เพียงพอ โดยเฉพาะในคอกที่มีลูกเยอะเกินเต้านมแม่ แต่ในบางฟาร์มที่ไม่สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง อาจจะสลับชั่วโมงทำงานของพนักงานแทน ซึ่งใน SEGES Pig Research Centre ก็กำลังศึกษาโดยการใช้กล้องวีดีโอในการช่วยเฝ้าคลอดเพื่อช่วยลดลูกตายแรกคลอดอยู่ด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญ

1. แม่สุขภาพดี
2. ความหนาไขมันสันหลังแม่อุ้มท้อง ควรมี 14-15 มิลลิเมตร(ก่อนย้ายเข้าเล้าคลอด)
3. ย้ายเข้าเล้าคลอด 5-7 วันก่อนถึงกำหนดคลอด
4.ให้หญ้าหรือวัสดุอื่น ๆเสริมก่อนคลอด
5. ให้อาหาร 3.3-4.0 กิโลกรัมต่อวัน
6. ให้อาหาร 3 มื้อต่อวัน (เว้นช่วงเวลาให้เท่ากัน)
7. อาหารควรมีไฟเบอร์ 500-600 กรัมต่อวัน
8. มีการเฝ้าคลอดและช่วยคลอดเมื่อจำเป็น

การจัดการลูกสุกรแรกคลอด

ปริมาณนมน้ำเหลืองและอุณหภูมิเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการมีชีวิตรอดของลูกสุกรแรกคลอดจนถึงหย่านม โดยเฉพาะในคอกที่มีจำนวนลูกเยอะต้องมั่นใจว่าลูกตัวเล็กได้รับนมน้ำเหลืองอย่างเพียงพอ เนื่องจากลูกตัวเล็กต้องการพลังงานเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายมากกว่าปกติ เพราะมีสัดส่วนของผิวหนังต่อน้ำหนักตัวมากกว่า ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือลูกสุกรทุกตัวต้องได้นมน้ำเหลืองอย่างเพียงพอและได้รับความอบอุ่นตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังคลอด

ในระหว่างการคลอด ลูกที่อ่อนแอหรือลูกที่เกินเต้านมแม่ ควรได้รับการช่วยเหลือหรือย้ายไปให้แม่ตัวอื่นเพื่อให้ได้นมน้ำเหลืองที่เพียงพอ และหลังจากคลอดเสร็จต้องดูภาพรวมทั้งหมด ทั้งจำนวนลูกมีชีวิตและจำนวนลูกตัวเล็ก เพื่อที่จะพิจารณาการจัดการเพิ่มเติม อีกทั้งจำนวนเต้านมแม่ที่ใช้งานได้ซึ่งควรจะดูและบันทึกตั้งแต่ก่อนคลอด หรือคะแนนการเลี้ยงลูกของคอกก่อนหน้า เพื่อนำมาประเมินการเลี้ยงลูกของแม่นั้นๆ ว่าสามารถเลี้ยงได้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งการที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าลูกสุกรได้รับนมน้ำเหลืองเพียงพอคือการแบ่งลูกสุกรให้ดูดนมแม่เป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่ 8 ชั่วโมงหลังคลอด จนเมื่อลูกสุกรพร้อมย้ายไปยังแม่นม เพื่อจำกัดการเข้าถึงนมแม่ในลูกที่ตัวใหญ่หรือลูกที่เกิดลำดับต้น ๆ โดยจัดครึ่งแรกที่เป็นกลุ่มตัวเล็ก 10-12 ตัว กินนมก่อน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง จึงค่อยสลับให้กลุ่มตัวใหญ่มากินนมต่อ นอกจากนั้นอาจย้ายลูกตัวเล็กไปให้แม่ที่มีลูกน้อยแต่ยังมีนมน้ำเหลืองอยู่ (หรือแม่ที่คลอดในวันเดียวกัน) โดยหลังจากผ่านไป 8 ชั่วโมง ลูกสุกรที่ตัวใหญ่ก็จะได้รับนมน้ำเหลืองและภูมิคุ้มกันจากแม่อย่างเพียงพอ และสามารถย้ายไปฝากไปยังแม่นมต่อไปได้

ในลูกสุกรแรกคลอดอุณภูมิร่างกายจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังคลอด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มอุณหภูมิร่างกายภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยการเสริมความอบอุ่นทำได้หลากหลายวิธี เช่น การเสริมไฟกกในกล่องกกหรือพื้นที่ที่ลูกนอน โดยอาจเสริมไฟกกอีกด้านนึงตรงส่วนด้านหลังแม่(ตามรูป) ซึ่งมีการทดลองโดยการเสริมไฟกก 2 ด้านนี้ ในลูกสุกรจำนวน 569 ตัว ที่น้ำหนักน้อยกว่า 900 กรัม และเปิดไฟกกที่อุณหภูมิ 33-34 องศาเซลเซียส(ที่พื้นใต้ไฟกก) เทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีอุณหภูมิพื้นที่ 20 องศาเซลเซียส พบว่ากลุ่มที่มีไฟกกช่วยเพิ่มสัดส่วนลูกสุกรที่มีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 37 องศาเซลเซียส จาก 36% เป็น 59% และลดสัดส่วนลูกที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส จาก 25% เหลือเพียง 16%

แปลบทความโดย : สพ.ญ.นริศรา สุนันต๊ะ นักวิชาการชำนาญการ บริษัท แอมโก้เวท จำกัด