กรมปศุสัตว์ส่งชุดเฉพาะกิจเร่งควบคุม “โรคคอบวม” โรคระบาดร้ายแรงในโค-กระบือ จังหวัดมหาสารคามและขอนแก่น
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2563 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดการระบาดของโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวม ที่จังหวัดมหาสารคาม มีกระบือ ป่วย 28 ตัว ตาย 25 ตัว และจังหวัดขอนแก่น มีกระบือป่วย 4 ตัว ตาย 1 ตัว โคเนื้อตาย 1 ตัว ซึ่งโรคคอบวมเป็นโรคระบาดร้ายแรงในกระบือ เนื่องจากมีอัตราป่วยและอัตราตายสูง โดยโรคนี้เป็นโรคสัตว์ที่ไม่ติดคน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบอยู่ในระบบทางเดินหายใจของสัตว์ปกติ ซึ่งสัตว์จะไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อมีภาวะที่ทำให้สัตว์เครียด เช่น ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะต้นหน้าฝน มีการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือการแรงงานสัตว์มากเกินไป สัตว์จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกมาในสิ่งแวดล้อมผ่านสิ่งขับถ่ายต่างๆ และปนเปื้อนในอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์อื่นมาสัมผัสเชื้อ ทำให้สัตว์ป่วยและเกิดการแพร่กระจายของโรคอย่างรวดเร็ว
เพื่อเป็นการควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น กรมปศุสัตว์ได้ระดมกำลังชุดเฉพาะกิจจากส่วนกลางและภูมิภาคดำเนินการตามมาตรการเมื่อพบสัตว์สงสัยหรือแสดงอาการป่วยด้วยโรคคอบวม ดังนี้
1. เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น เพื่อเพาะเชื้อและทดสอบยาที่มีความไวต่อการรักษา
2. ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวชนิดโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียในโค กระบือพื้นที่ อ.บรบือ อ.กุดรัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม และประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวชนิดโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียในโค กระบือ พื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยและสัตว์ในพื้นที่
3. ทำบันทึกสั่งกักโค กระบือในพื้นที่พบโรคทั้งหมด
4. รักษาโค กระบือป่วยด้วยยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อ ร่วมกับการรักษาทางอาการ
5. ตั้งจุดตรวจสัตว์และซากสัตว์ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายโค กระบือเข้า-ออกในพื้นที่
6. ฉีดวัคซีนโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียให้กับโค กระบือ ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากจุดเกิดโรค
7. ให้คำแนะนำตลอดจนควบคุมการทำลายซากโค กระบือให้ถูกสุขลักษณะโดยการฝังกลบ รวมทั้งทำลายเชื้อโรคบริเวณที่ฝังซาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
8. ทำลายเชื้อโรคบริเวณจุดเสี่ยง จนกว่าจะไม่พบสัตว์ป่วยเพิ่มเติม
9. เฝ้าระวังเชิงรุกทางอาการ โดยให้ปศุสัตว์อำเภอร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นค้นหาโรคในพื้นที่ และจัดตั้งศูนย์รับแจ้งสัตว์ป่วยที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ
10. ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ เฝ้าระวังโรคดังกล่าว หากพบกระบือแสดงอาการผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอทันที พร้อมทั้งให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการป้องกันโรคคอบวม
ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายจากโรคคอบวม จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับกระบือ และโคที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนดังกล่าวสามารถคุ้มโรคได้นานถึง 1 ปี และสังเกตอาการโค กระบือ ของตนเอง
หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด หรือแจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ที่ 063-2256888 หรือ แอพพลิเคชั่น DLD 4.0 โดยทันที เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที