ข่าว (News) สุกร (Pig)

เลี้ยงหมู 3 ปลอด ทางรอดเกษตรกรรายย่อยทั้งเก่าใหม่

“เนื้อสุกร” ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ฉะนั้นทางปศุศาสตร์ นิวส์ จึงหยิบยกตัวอย่าง “การทำฟาร์มแบบปลอดสาร” ที่เป็นการลดต้นทุนการผลิตไปโดยอัตโนมัติ เพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงสุกรสำหรับรายใหม่และรายเก่าที่กำลังมองหาวิธีการเลี้ยงแบบ 3 ปลอด (ปลอดหนี้ ปลอดสาร และปลอดภัย)

เมื่อพูดถึงการเลี้ยงสุกรปลอดสารหลายคนยังนึกภาพไม่ออกว่าเป็นรูปแบบไหน เพราะเป็นการเลี้ยงสุกรที่ง่ายแสนง่ายและให้ผลผลิตดี อย่างการทำฟาร์มของ ดร.มานิจ วิบูลย์พันธุ์ (ต.หนองปลาหมอ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี) ที่ทำให้การเลี้ยงสุกรที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องยากกลายเป็นเรื่องหมูๆ ได้ ด้วยแนวคิดที่ว่า “ให้เอาตัวเราเป็นที่ตั้ง อยากบริโภคเนื้อหมูแบบไหนก็ผลิตหมูแบบนั้นออกมา”

สำหรับการเลี้ยงสุกรแบบฉบับของ ดร.มานิจ เป็นการเลี้ยงในรูปแบบอิสระ ในที่นี้คือ “อิสระทั้งผู้เลี้ยง” และ “อิสระทั้งตัวสุกร”

อิสระของผู้เลี้ยง คือ การทำฟาร์มที่มีอำนาจการตัดสินใจ และมีตลาดเป็นของตัวเอง โดยไม่มีการผูกขาดจากพ่อค้าคนกลาง การเลี้ยงในรูปแบบอิสระนั้นเกษตรกรจะได้เรียนรู้ทั้งการเลี้ยงการจัดการ และการตลาดไปพร้อมกัน ซึ่งเกษตรกรมีโอกาสที่จะล้ม และมีโอกาสที่จะคิดช่องทางหรือวิธีการต่างๆให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกษตรกรเรียนรู้ด้วยตัวเอง ฝึกฝนด้วยตัวเอง ก็จะเก่งและชำนาญขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านบัญชี หรือด้านวิชาสัตวบาลด้วย

“ถ้าหากเกษตรกรได้ลองทำฟาร์มเองจะเกิดกระบวนการคิดและการเรียนรู้ได้มากกว่า หรือแม้แต่ทางการตลาดด้วยการล้มของเกษตรกรนั่นคือโอกาสในอนาคต หรือราคาที่ตกต่ำก็คือการล้มของเกษตรกร แต่การล้มหนึ่งครั้งของเกษตรกรจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรตลอดชีวิต แต่ถ้าเป็นการล้มจากระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เกษตรกรจะล้มตลอดชีวิต เพราะเป็นหนี้ ซึ่งถือว่าต้นทุนในการดำเนินชีวิตติดลบ ทั้งหมดนี้ผมล้วนเคยได้สัมผัสมาแล้วทั้งสิ้น”

การรับรู้และการเรียนรู้ ถือว่าเป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะได้กำไรหรือขาดทุน ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้ หากขาดทุนก็จะรู้ว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรให้มีผลกำไรในอนาคตหรือรอบต่อไป

หมูจะไม่เครียด
หมูสุขภาพดี

อิสระของสุกร ใช้วิธีการลี้ยงแบบง่ายๆโดยใช้คำว่า “เลี้ยงแบบตามมีตามเกิด” สิ่งสำคัญต้องรู้ศักยภาพในการเลี้ยงของตัวเองด้วยว่าสามารถเลี้ยงได้แค่ไหน

“ผมไม่ใช้เงินกู้จากธนาคาร รูปแบบการเลี้ยงลักษณะนี้อยู่ที่ข้อจำกัดของตัวเอง เราใช้วิธีการซื้อวัตถุดิบจากเงินสดทั้งหมด และใช้วิธีการเลี้ยงที่ต้นทุนต่ำมาก จะใช้วัตถุดิบที่ราคาไม่สูงมากนักทำทุกอย่างให้ปลอดหนี้มากที่สุด เมื่อไม่มีเงินซื้ออาหารมาก็เอาหมูในฟาร์มไปขายเพื่อที่จะนำเงินมาซื้ออาหารหมุนเวียน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเป็นหนี้จึงน้อยมาก”

โรงเรือนที่ใช้เลี้ยงแทบจะไม่มีอะไรเลย ไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารมาทำ ไม่จำเป็นต้องมุงกระเบื้องหรือก่ออิฐบล็อก ทำโรงเรือนในรูปแบบที่ถนัดและง่ายเพียงเพื่อสามารถป้องกันแดด ป้องกันฝนและให้สัตว์ปลอดภัยจากพวกศัตรู เช่น ตะขาบ หรือสัตว์ร้ายต่างๆ ที่สำคัญควรมีบริเวณพื้นที่กว้างให้สุกรได้เดินเล่นและหากินเองเพื่อลดความเครียด เพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

ข้อดีของการเลี้ยงในรูปแบบนี้จะทำให้สุกรแข็งแรงมาก ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำมาก และไม่สร้างหนี้

การดูแลและการจัดการก็แสนง่าย ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือวิตามิน ไม่ต้องพิถีพิถันหรือไม่จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษใดๆ เพราะสุกรแต่ละตัวมีภูมิคุ้มกันที่ดีอยู่แล้ว“เลี้ยงแบบทั่วไปเพียงแค่เติมสมุนไพรลงไปในอาหารที่ใช้เลี้ยงในสัดส่วนที่เหมาะสม หมูก็สามารถดึงคุณค่าจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ต่างๆที่ใส่ลงไป ให้เฉพาะมื้อเย็น ส่วนช่วงเช้าประมาณ 6 โมงเช้า จะปล่อยให้หมูเดินออกจากคอกหากินเองเต็มที่ ตัวไหนที่หิวก็หาอะไรกิน ส่วนตัวที่อยากนอนอาบแดดก็นอนอาบแดด ตัวที่อยากนอนแช่โคลนก็นอนแช่โคลน คือ หมูจะมีอิสระมาก พอถึงเวลา 4 โมงเย็นก็จะให้อาหาร จากนั้นก็จะปิดคอก เพราะฉะนั้นหมูในฟาร์มจะมีความสุขมาก”

การเลี้ยงในรูปแบบดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเลี้ยงหมูปลอดสารปนเปื้อนโดยอัตโนมัติ เนื่องจากสุกรมีสุขภาพที่ดีจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ พรีมิกซ์ หรือไม่จำเป็นต้องใช้สารเร่งเนื้อแดง

เพราะก่อนหน้านี้เกษตรกรจะใช้ยาปฏิชีวนะกันเยอะ เพราะมีผลมาจากสายพันธุ์สุกรมีการพัฒนาพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศ เมื่อสายพันธุ์ไม่เหมาะสมจึงจำเป็นต้องพึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเข้ามาช่วย และต้องดูแลอย่างประคบประงม เมื่อมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสุกรจะเจ็บป่วยได้ง่าย พอนำสมุนไพรเข้าไปใช้สิ่งแรกคือสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้แน่นอน

ด้านระบบไบ​โอ​ซิ​เคียว​ริ​ตี้ (Biosecurity) ภายในฟาร์ม คือ การปล่อยให้สุกรอยู่อย่างอิสระห้ามบุคคลภายนอกเข้ามายุ่งเด็ดขาด เพราะโรคต่างๆที่เกิดการแพร่กระจายส่วนหนึ่งติดมาจากคนเป็นพาหะนำเข้ามา ส่วนการป้องกันโรคเท้าปากเปื่อย (FMD) จะพิจารณาเป็นบางช่วง หากช่วงไหนเกิดโรคระบาดรุนแรงมากจะให้วัคซีนป้องกันไว้ก่อน โดยจะเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา การรักษาจะยาก หากช้าก็จะไม่ทันท่วงที

“ตัวเกษตรกรเองต้องรู้จักปรับตัวตามผู้บริโภคให้ทัน ต้องศึกษาผู้บริโภคด้วยว่าตลาดต้องการแบบไหน พยายามสร้างความแตกต่างทางการตลาด ระบุแหล่งที่มาชัดเจน เช่น เป็นฟาร์มที่เลี้ยงแบบปลอดสารอันตราย ผู้เลี้ยงควรเลี้ยงแบบเน้นคุณภาพดูแลได้ทั่วถึงมากกว่าการเน้นปริมาณ เพราะถ้าเน้นปริมาณการดูแลก็จะไม่ทั่วถึง เพียงแค่นี้เกษตรกรก็ถือว่าได้กำไร”

อิสระของสุกร

ขอบคุณ : ดร.มานิจ วิบูลย์พันธุ์

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com