ทุก ๆ คนคงทราบกันดีว่าภาวะโลหิตจางในสุกรนั้นมีสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็กในระยะแรกเกิดของสุกร แม้ความจริงแล้วสุกรจะเกิดมาโดยมีธาตุเหล็กสะสมอยู่ในร่างกาย แต่ก็มีในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยแม้แต่น้ำนมของแม่สุกรเองก็ยังมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการในการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและการขยายตัวของปริมาณเลือดในช่วงแรกของชีวิต ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการเสริมธาตุเหล็กอย่างทันท่วงที จะส่งผลให้ลูกสุกรจะมีภาวะโลหิตจางภายใน 6 วันหลังคลอด1
อาการของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กที่แสดงให้เห็นโดยทั่วไปนั้นได้แก่ เยื่อเมือกซีด, ผิวหนังและขนหยาบกร้าน, ขาดความอยากอาหาร2 ซึ่งทำให้การเจริญเติบโตของลูกสุกรในเล้าคลอดลดลง, น้ำหนักหย่านมลดลง และส่งผลให้การเจริญเติบโตในเล้าอนุบาลแย่ลงอีกด้วย3 สิ่งเหล่านี้เป็นอาการที่คนทั่วไปสามารถสังเกตได้ แต่ทราบหรือไม่ว่า ยังมีอาการอื่น ๆ ที่เราไม่สามารถสังเกตเห็นด้วยเช่นกัน เพราะธาตุเหล็กนั้นเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาและเพิ่มจำนวนของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นการขาดธาตุเหล็กจึงส่งผลให้การทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง4 ลูกสุกรที่ขาดธาตุเหล็กจึงมีความอ่อนแอ ไวต่อการติดเชื้อและป่วยได้มากกว่าลูกสุกรปกติอีกด้วย
เห็นได้ชัดเจนว่า การเสริมธาตุเหล็กในลูกสุกรแรกเกิดจึงจำเป็นอย่างมาก โดยสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเสริมธาตุเหล็กโดยการป้อนปาก หรือการเสริมธาตุเหล็กโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งวิธีการเสริมธาตุเหล็กที่ได้ผลดีและเป็นที่นิยมมากที่สุด คือการฉีดธาตุเหล็กประมาณ 200 มก. เข้ากล้ามเนื้อ ภายใน 3 วันแรกหลังคลอด
ประเด็นนี้จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ในปัจจุบันที่การเลี้ยงสุกรมีการพัฒนาไปอย่างมาก มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงให้ดีขึ้น ปรับปรุงสายพันธุ์ให้ลูกดก โตเร็วขึ้น แต่แม้ว่าจะมีการปรับปรุงพันธุ์สุกรและพัฒนากระบวนการเลี้ยงในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่การป้องกันภาวะโลหิตจางในฟาร์มสุกรบ้านเรานั้นยังใช้รูปแบบเดิมมาอย่างยาวนาน โดยเกือบทุกฟาร์มในประเทศไทยมีโปรแกรมการฉีดธาตุเหล็กในรูปไอรอนเดกซ์แทรน (Iron dextran) เข้ากล้ามเนื้อมาอย่างยาวนาน จึงเป็นที่ชวนสงสัยว่าการป้องกันภาวะโลหิตจางด้วยการฉีดธาตุเหล็กแบบเดิมยังได้ผลดีหรือไม่
จากการศึกษาพบว่า ภาวะโลหิตจางมักพบมากในสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ให้ลูกดก และโตไว5 นอกจากนี้ยังพบว่าแม่สุกรที่มีลำดับท้องมากขึ้น จะพบปริมาณฮีโมโกลบินที่ลดลงอีกด้วย6
จากการสำรวจหาความชุกของภาวะโลหิตจางเบื้องต้นของลูกสุกรในประเทศไทย โดยการเก็บตัวอย่างเลือดลูกสุกรหย่านมจำนวน 1,278 ตัว จากฟาร์มสุกร 8 ฟาร์ม เพื่อตรวจวัดระดับฮีโมโกลบินในเลือด (ถ้ามีระดับฮีโมโกลบินในเลือดต่ำกว่า 9.0 กรัม/เดซิลิตร ถือว่าสุกรอยู่ในภาวะโลหิตจาง7) โดยทุกฟาร์มมีโปรแกรมการเสริมธาตุเหล็กให้ลูกสุกรโดยการฉีดธาตุเหล็กในรูปของไอรอนเดกซ์แทรน เข้ากล้ามเนื้อ ที่อายุ 2-4 วัน โดยผลการสำรวจพบว่าก่อนฉีดธาตุเหล็กมีลูกสุกรถึง 48.89% ที่มีภาวะโลหิตจาง และเป็นที่น่าตกใจว่ามีลูกสุกรหย่านมถึง 22.59% จากจำนวนสุกรทั้งหมด มีภาวะโลหิตจางถึงแม้ว่าจะมีเสริมธาตุเหล็กด้วยการฉีดไอรอนเดกซ์แทรนแล้วก็ตาม
ปัจจุบันมีธาตุเหล็กอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้ในต่างประเทศ ได้แก่ ธาตุเหล็กในรูปเกล็ปโตเฟอรอน (Gleptoferron) โดยเกล็ปโตเฟอรอนสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าไอรอนเดกซ์แทรน โดยจะถูกดูดซึมได้มากถึง 95% ภายใน 24 ชั่วโมงหลังฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และเมื่อเปรียบเทียบกับไอรอนเดกซ์แทรนแล้ว เกล็ปโตเฟอรอนจะถูกดูดซึมอยู่ในร่างกายได้มากกว่า 4.6 เท่า8
เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะโลหิตจางพบว่าเกล็ปโตเฟอรอนสามารถป้องกันภาวะโลหิตจางได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับไอรอนเดกซ์แทรน และการให้ธาตุเหล็กแบบกิน
ดังนั้นจึงชี้ให้เห็นได้ว่า เกล็ปโตเฟอรอนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการลดภาวะโลหิตจางในฟาร์มสุกรในปัจจุบัน เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ผู้เลี้ยงสุกรควรทบทวนวิธีการเสริมธาตุเหล็กในสุกร เพื่อผลผลิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
บทความอื่นๆ “ธาตุเหล็ก” เรื่องไม่เล็กสำหรับลูกสุกร ที่คนเลี้ยงหมูต้องรู้
อ้างอิง
1. Salle et al., Comparative study of efficacy of gelptoferron and iron dextran in aneamia prevention in piglets, 19th IPVS, Denmark, Abstract No: 37-04
2. Venn JA, McCance RA, Widdowson EM Iron metabolism in piglet anemia. J Comp Pathol Therap. 57: 314-325.
3. Peters JC, Mahan DC Effects of neonatal Fe status, Fe injections at birth, and weaning in young pigs from sows fed either organic or inorganic trace minerals. J of Anim Sci. 86: 2261-2269.
4. Beard JL Iron biology in immune function, muscle metabolism and neuronal functioning. J Nutr. 131: 568S-580S.
5. Svoboda M, Drabek J Iron deficiency in sucking piglets: etiology, clinical aspects and diagnosis. Folia Vet. 49: 104-111.
6. Auvigne, 2010. Haemoglobin levels in sows 4 weeks before farrowing according to parity
7. Perri AM, 2015. An investigation of iron deficiency and anemia in piglets and the effect of iron status at weaning on post-weaning performance. J Swine Health Prod. ;24:10-20.
8. Morales J, Manso A, Martin-Jimenez T, et al. Comparison of the pharmacokinetics and efficacy of two different iron supplementation products in suckling piglets. J Swine Health Prod 2018;26(4):200-207.