ประกาศราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ที่ฟองละ 2.70 บาท นับเป็นราคาที่พ้นต้นทุนการผลิตที่ 2.65 บาทต่อฟอง มาเพียงเล็กน้อย เกษตรกรเพียงแค่พ้นน้ำ และพอให้ผู้เลี้ยงได้มีแรงไปต่อได้
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เกษตรกรต้องขายไข่ขาดทุนติดต่อกันหลาย ราคาขายจริงหน้าฟาร์มเคยหล่นลงไปถึง 2.20-2.30 บาท จากปัญหาไข่ล้นตลาด ประเทศไทยเคยมีไข่ไก่ส่วนเกินกว่า 3 ล้านฟองต่อวัน ราคาไข่จึงดิ่งลงอย่างไม่ต้องสงสัย ที่ผ่านมาภาครัฐจึงต้องออกมาตรการแก้ปัญหา ทั้งการผลักดันส่งออกไข่ไก่เพื่อระบายปริมาณที่ล้นตลาดออกไปออย่างเร่งด่วน รวมถึงการเร่งปลดไก่ไข่ยืนกรง เพื่อปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่กับการบริโภคในประเทศ
ราคาไข่ไก่ในวันนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการสร้างผลกำไรให้กับเกษตรกร เป็นเพียงการช่วยต่อลมหายใจ ให้พอมีเงินไปใช้หนี้สินที่แบกรับก่อนหน้านี้ และเหลือไปต่อทุนเลี้ยงไก่รุ่นต่อไปเท่านั้น
ยิ่งเมื่อพิจารณาต้นทุนการผลิตตามตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เฉลี่ยทั้งปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.60 ต่อฟอง ขณะที่ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้จริงเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ฟองละ 2.61 บาท เรียกว่าแทบไม่มีกำไรด้วยซ้ำ ยิ่งฟาร์มไหนที่มีปัญหาเรื่องโรคมาสมทบ หรือเจอช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงซ้ำเติมด้วยแล้ว ก็เท่ากับขาดทุนแน่นอน นี่คือความจริงที่เกษตรกรต้องเผชิญ
บางคนอาจมีคำถามว่า เกษตรกรขาดทุน ขายไข่ได้ราคาต่ำ แต่ทำไมตอนซื้อไข่ที่ตลาดจึงต้องจ่ายเงินมากกว่า ก็ต้องย้อนดูเส้นทางไข่ไก่ว่า ต้องผ่านอะไรบ้างกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ในอุตสาหกรรมไข่ไก่นั้น ไข่ต้องผ่านกลไกตลาดในหลายขั้นตอน และที่สำคัญประโยชน์ก็ไม่ได้ตกที่เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต เพราะผลิตมาแล้วก็ขายออกเลย โดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับราคาที่ถึงมือผู้บริโภค
ทั้งนี้เพราะวงจรการค้าไข่มีซัพพลายเชนยาว มีกระบวนการและคนกลางหลายขั้น มีผู้เกี่ยวข้องหลายระดับตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ผู้รวบรรวมไข่ หรือล้งไข่ ยี่ปั่ว ซาปั่ว ผู้ค้าปลีก ไปจนถึงร้านขายของชำหรือตามตลาดสดในหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละขั้นมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่จากหน้าฟาร์มมาถึงคนกินราคาไข่จะปรับขึ้น
ส่วนราคาไข่ที่ประกาศฯ ปรับขึ้น 20 สตางค์ ในมุมผู้บริโภคบางคนมองว่าไข่แพง อยากให้ลองเปิดใจพิจารณาให้ถ่องแท้ ยกตัวอย่างง่ายๆ หากหนึ่งครอบครัว 3 คน พ่อ-แม่-ลูก ถ้าบริโภคไข่ไก่คนละ 1 ฟองต่อวัน หนึ่งเดือนทานไข่ 90 ฟอง ในราคาไข่ไก่ 20 สตางค์ที่เพิ่มขึ้น เท่ากับครอบครัวนี้ ต้องจ่ายเงินเพิ่มแค่ 18 บาทต่อเดือน ถามกลับว่า 18 บาทนี้ทำให้ครอบครัวนี้เดือนร้อนหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายส่วนอื่นมากกว่านี้ด้วยซ้ำ
วันนี้ทุกคนน่าจะเปิดใจและทำความเข้าใจว่าไข่ไก่เป็นสินค้าคอมโมดิตี้ (Commodities) ที่ราคาแปรผันตามกลไกตลาด โดยมีอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) เป็นปัจจัยสำคัญ หากความต้องการบริโภคกับปริมาณผลผลิตไม่สมดุลกันแล้วราคาย่อมมีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา ตามกลไกตลาดในเวลานั้นๆ
ที่สำคัญราคาที่ปรับขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เกษตรกรร่ำรวย แค่เพียงช่วยต่อลมหายใจอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ไม่ล้มหายไปเท่านั้น และการสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ไม่ใช่หน้าที่ภาครัฐ ภาคผู้ผลิต หรือเกษตรกร คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกัน ซึ่งผู้บริโภคคนไทยทั้งประเทศก็สามารถช่วยได้ ด้วยการทานไข่เพียงคนละฟองต่อวัน เพื่อช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมไข่ไก่ได้เดินหน้าต่อ ทำให้ประเทศไทยยังคงมีเกษตรกรผู้ผลิตไข่ไก่ โปรตีนคุณภาพดีให้คนไทยได้มีสุขภาพที่ดีต่อไป
บรรจบ สุขชาวไทย นักวิชาการด้านปศุสัตว์ : banchob_suk@yahoo.com