ราคาเนื้อหมู ณ วันพระที่ 3 มีนาคม 2567 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคารถใหญ่คละขนาดอยู่ที่ 60 บาท/กก. ลดลงจากวันพระก่อนหน้าถึง 6 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 72 บาท/กก. ตามการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) หมายความว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องขายหมูขาดทุนเฉลี่ยถึง 12 บาท/กก. ขณะที่หน้าฟาร์มจริงๆ ต้นทุนของเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ไปไกลถึง 80 บาท/กก.แล้ว สวนทางกับราคาขายที่เกษตรกรแทบทุกพื้นที่จะขายหมูได้ต่ำกว่าราคาประกาศ
ยิ่งเมื่อสมาคมฯ เลือกประกาศแบบราคารถใหญ่คละขนาด ก็พบว่ามีพ่อค้าคนกลางหลายพื้นที่ฉวยโอกาสกดราคาหมูหน้าฟาร์มซ้ำเติมผู้เลี้ยง กดดันให้ราคาต่ำลงไปอีก ถัดมาเพียงวันเดียวสมาคมฯ จึงปรับเพิ่มข้อมูลราคาขายจริงรายภูมิภาคเช่นเดิมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งก็หวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาถูกกดราคา ท่ามกลางภาวะขาดทุนสะสมที่เกษตรกรต้องแบบรับมาตลอด 11-12 เดือนลงได้
ดูราคาหมูหน้าฟาร์ม ย้อนหลัง-ล่าสุด ที่นี่!!
อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ราคาหมูต่ำเตี้ยได้ถึงขนาดนี้? คำถามนี้มีคำตอบที่เข้าคู่กันตามตำรากลไกตลาดอยู่แล้ว นั่นก็คือ เป็นเพราะปริมาณสินค้าในตลาดมีมากกว่าความต้องการของผู้บริโภค หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า “Oversupply” จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าตกต่ำลง แต่อะไรทำให้ของมีมากกว่าคนกิน?
ข้อแรก : หมูเถื่อน
ต้องยอมรับว่า “หมูเถื่อน” เป็นผู้ร้ายตัวจริงที่แฝงตัวเข้ามาทำลายคนเลี้ยงหมูไทยและเศรษฐกิจชาติ ถูกลักลอบนำเข้ามาในจำนวนมหาศาลหลายล้านกิโลกรัมทั้งที่ขายเข้าตลาดไปแล้ว และที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ตามห้องเย็นทั่วประเทศในปัจจุบัน โดยที่ผู้ร้ายค่อยๆ ทยอยปล่อยออกสู่ตลาดในช่วงนี้ เพราะ DSI เข้าใกล้ตัวมากขึ้น จากการจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับหมูเถื่อนในพื้นที่ปลอดอากร (Free Zone) ของกรมศุลกากร บ้างเสียงก็ว่าเป็นเพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพิ่งยื่นฎีกาขอเบื้องบนช่วยจัดการปัญหาหมูเถื่อน ส่งผลทางจิตวิทยาให้กลุ่มคนร้ายเกรงกลัวและปล่อยของเถื่อนออกมาค่อนข้างมากในช่วงนี้เพื่อหนีความผิด
ราคาหมูไทยที่ตกต่ำอย่างหนัก จึงเป็นเพราะภาครัฐไม่สามารถจัดการปัญหานี้ให้จบลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยิ่งสาวยิ่งเจอ ยิ่งสอบยิ่งพบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตคอรัปชั่นตลอดเส้นทางของ “ขบวนการหมูเถื่อน” ซึ่งทำให้คดีนี้ยากขึ้น ยิ่งปล่อยให้ขบวนการนี้ลอยนวลอยู่ต่อไปอีกนานแค่ไหน หมูไทยก็คงต้องใช้เวลานานเท่านั้นกว่าจะลืมตาอ้าปากพ้นภาวะขาดทุนไปได้
ข้อสอง : ซัพพลายเข้าใกล้ภาวะปกติแต่ดีมานด์ต่ำ
นอกเหนือจากปริมาณหมูเถื่อนในตลาดที่เป็นตัวการทำให้เกิดภาวะ Oversupply แล้ว การเร่งเพิ่มผลผลิตในช่วงหลังเกิดโรคระบาด ASF เพื่อให้ทันความต้องการบริโภค การเลี้ยงหมูหนึ่งรุ่นใช้เวลาประมาณ 6 เดือน กว่าปริมาณผลผลิตจะเข้าสู่ภาวะปกติที่ 18-19 ล้านตัวต่อปีได้ ก็ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ซึ่งก็หมายถึงในช่วงนี้ซัพพลายหรือปริมาณผลผลิตกำลังเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อปริมาณผลผลิตเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ความต้องการบริโภคยังไม่ปกติ สภาพเศรษฐกิจไม่เอื้อให้เกิดการบริโภคมากนัก อัตราการบริโภคช่วงตรุษจีนก็น้อยกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีมากขึ้นเท่ากับช่วงก่อนโควิด ก็ยังเข้ามาไม่ถึงเป้าหมาย ทำให้ซัพพลาย-ดีมานด์ไม่สมดุล เป็นอีกเหตุการณ์สะสม ซ้ำเติมให้ราคาหมูตกลงอย่างเห็นได้ชัด
ข้อสาม : ขาดการรณรงค์บริโภค
การเพิ่มการบริโภคจะเป็นอีกทางที่ช่วยทำให้ปริมาณหมูลดลง เนื่องจากที่ผ่านมาในช่วงหน้าหนาว หมูโตเร็วกว่าช่วงหน้าร้อน ปริมาณหมูจึงออกสู่ตลาดเร็วขึ้น หากห้างสามารถกำหนดราคาขายปลีกให้เหมาะสม ก็จะช่วยเพิ่มการบริโภคได้ และส่งผลดีในระยะถัดไป เนื่องจากขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงหน้าร้อน หมูจะโตช้าลง ปริมาณหมูออกสู่ตลาดจะน้อยลง ดังนั้น ราคาก็อาจปรับตัวขึ้นได้ ตามกลไกตลาด ขณะที่ต้นทุนเกษตรกรเริ่มลดลงจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลง เกษตรกรก็จะมีโอกาสทำกำไร ลดขาดทุนสะสมลงได้
การตรึงราคาปลีกห้างไม่ให้ลงตามภาวะ อาจดูเหมือนช่วยเกษตรกรพยุงราคารับซื้อหมู แต่ในทางกลับกัน หากห้างค้าปลีกขายได้น้อยลง ก็จะทำให้ปริมาณหมูคงเหลือในตลาดมากขึ้นและกดดันราคาให้ลงอยู่ดี ดังนั้น รัฐควรใช้กิจกรรมรณรงค์บริโภคเป็นตัวช่วย เช่น ปรับราคาขายให้สมดุลตามซัพพลาย-ดีมานด์ รวมถึงส่งเสริมการส่งออก เพราะราคาหมูเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม ลาว กัมพูชา เริ่มสูงขึ้นมากแล้ว
กิจกรรมจำหน่ายหมูหัน เพื่อตัดวงจรการนำลูกหมูเข้าเลี้ยงจำนวน 4.5 แสนตัว ภายใน 90 วัน หรือเฉลี่ยวันละ 5,000 ตัว โดยส่วนหนึ่งใช้ช่องทางห้างค้าปลีกจัดจำหน่ายหมูหันเหล่านี้ให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารนั้น ก็นับเป็นแนวทางที่ดีที่จะลดการ Oversupply และกระตุ้นการบริโภคไปพร้อมกัน ซึ่งจะเห็นผลในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า
ปัจจุบันคนไทยจะบริโภคเนื้อหมูเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 5 หมื่นตัว แต่ปริมาณผลผลิตมีมากถึง 5.8 หมื่นตัว จึงอยากให้มีกิจกรรมเชิญชวนคนไทยช่วยกันบริโภคผลผลิตส่วนที่เกินอยู่ ทั้งเพื่อช่วยเกษตรกรขายของได้มากขึ้นและเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานเนื้อหมู โปรตีนชั้นดีที่ในช่วงนี้ที่มีราคาถูก
ว่าแล้ววันนี้พวกเรากินหมูรึยัง? … หมูปิ้ง หมูกระทะ หมูชาบู ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น กะเพราหมูไข่ดาว หรือต้มยำขาหมู … สารพัดเมนูหมูมีให้เลือกสรรมากมาย ขออย่างเดียว ร้านอาหารต่างๆ อย่ารับซื้อ “หมูเถื่อน” มาปรุงให้ลูกค้าเบียดตลาดหมูไทยก็แล้วกัน
โดย : สมคิด เรืองณรงค์