ได้ฟังรองเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เล่าถึงแนวโน้ม”วัตถุดิบอาหารสัตว์”ในปีหน้าแล้วต้องยอมรับว่า เป็นอีกปีที่ไม่ง่ายเลยสำหรับห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศไทย เพราะวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนเกือบทั้งหมด หรือราว 80-90% ของการผลิตอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์ก็เป็นต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ถึง 60-70% นั่นหมายความว่า เมื่อวัตถุดิบมีราคาแพง ย่อมส่งผลให้ อาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้น และต่อเนื่องไปถึง ราคาหมู-ไก่-ไข่ ที่ต้องแพงขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย แต่ก็พอจะมีทางออกถ้า “รัฐ” สามารถบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานได้ดี ไม่ละเลยเพิกเฉยหรือใส่ใจเพียงบางข้อต่อของห่วงโซ่ ก็จะทำให้ปัญหาลดลงและเกิดเป็นความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศด้วย
ประเทศไทยใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศเพียง 40% และนำเข้าจากต่างประเทศอีก 60% โดยมีวัตถุดิบสำคัญกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงาน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี หรือ กลุ่มโปรตีน เช่น กากถั่วเหลือง เมล็ดถั่วเหลือง และ DDGS เป็นต้น ระดับราคาขึ้นลงของวัตถุดิบเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกประเทศ
ในปี 2565 “ปัจจัยภายนอก” ที่มีผลต่อราคาวัตถุดิบ มีหลายปัจจัยสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์ในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลกที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 กลับมารับซื้อธัญพืชจากทั่วโลกในปริมาณมหาศาลอีกครั้ง ขณะที่ปัญหาภัยแล้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังทำให้ผลผลิตธัญพืชในประเทศผู้ปลูกพืชวัตถุดิบรายใหญ่มีปริมาณลดลง ทั้งข้าวโพดและถั่วเหลือง นอกจากนี้สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ก็ยังคงเป็นอุปสรรคในการส่งออกธัญพืชสำคัญ โดยทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก มีการส่งออกรวมกันมากถึง 1 ใน 3 ของโลก และส่งออกข้าวโพดได้รวมกันถึง 1 ใน 6 ของโลก สงครามครั้งนี้จึงกระทบทั้งปริมาณผลผลิตและการส่งออก ขณะที่ปัจจัยสุดท้ายก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้นมาก
ปัจจัยภายนอกดังกล่าวคงเป็นการยากที่รัฐบาลไทยจะควบคุมได้ คงเหลือเพียง “ปัจจัยภายใน” ที่รัฐจะสามารถบริหารจัดการได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะช่วยทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เชื่อมโยงไปถึงต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรภาคปศุสัตว์ และราคาเนื้อสัตว์ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายก็จะไม่แพงจนเกินไป โดยปัจจัยภายในที่มีผลอย่างมากต่อราคาวัตถุดิบก็คือ นโยบายรัฐ อาทิ มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 ส่วน, การจำกัดเวลานำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน และการจัดเก็บภาษีนำเข้า เช่น ภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ปลาป่น 15% DDGS 9% รวมถึง ข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO ในโควต้า 20% นอกโควต้า 73% เป็นต้น สิ่งเหล่านี้หากได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างทันการณ์ ก็จะลดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และผู้บริโภค นอกจากนี้ประเด็นของประสิทธิภาพการผลิตพืชวัตถุดิบก็จำเป็นต้องเร่งพัฒนา เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มปริมาณในประเทศให้มากขึ้นอย่างเพียงพอ
พูดถึงนโยบายรัฐ ก็น่าแปลกใจที่รัฐมีมาตรการดูแลข้าวโพดมากเป็นพิเศษ หากเทียบกับพืชที่มีการประกันรายได้เหมือนกัน เช่น มันสำปะหลัง จนเรียกได้ว่ามีการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน เพราะมันสำปะหลังซึ่งผลิตในประเทศได้จำนวนมาก ใช้ภายในแล้วยังเหลือส่งออก กลับมีการนำเข้าได้เสรี ส่วนข้าวโพดที่ผลิตไม่พอใช้ กลับถูกจำกัดจำนวนและเวลาในการนำเข้า ครั้นจะนำเข้าข้าวสาลีมาทดแทนก็ยังถูกกำหนดว่าจะต้องซื้อข้าวโพด 3 ส่วนก่อน จึงไม่แปลกที่ราคาข้าวโพดมีแต่จะสูงขึ้นเกินตลาดโลกมาก เป็นแรงจูงใจให้มีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านในระหว่างเดือนที่ห้ามนำเข้า
ทั้งหมดที่กล่าวมา ส่งผลให้ระดับราคาวัตถุดิบทุกประเภทในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2564 เฉลี่ย 25-30% และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยมองว่าปัจจัยทั้งหมด จะยังมีอิทธิพลต่อเนื่องไปถึงปี 2566 โดยคาดว่าจะส่งผลให้ราคาวัตถุดิบจะขยับสูงขึ้นไปอีก 10% ขณะที่ค่าบริหารจัดการ ค่าแรง ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตอาหารสัตว์จะปรับขึ้น 15-20% ซึ่งจะกระทบต่อผู้ผลิตอาหารสัตว์ ต้องปรับสูตรอาหาร ใช้พืชวัตถุดิบชนิดอื่นซึ่งมีประสิทธิภาพด้อยกว่า เพื่อลดต้นทุน หรือ ปรับลดกำลังการผลิตลง เพื่อลดภาวะขาดทุน เนื่องจากไม่สามารถปรับราคาขายได้หรืออาจเลวร้ายที่สุดถึงขั้นเลิกกิจการ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาคุณภาพอาหารสัตว์ที่มีสารอาหารไม่ดีเท่าเดิม ส่งผลสัตว์ที่เลี้ยงมีอัตราเติบโตที่ลดลง หรืออาจรุนแรงถึงขั้นขาดแคลนอาหารสัตว์ ซึ่งจะกดดันให้ราคาสินค้าปศุสัตว์ต้องปรับตัวสูงขึ้นอีก
ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก
ขณะที่ยังมองไม่เห็นความสามารถของรัฐในการจัดการ “ปัจจัยภายใน” ทั้งๆที่มีการเสนอทางออกเพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าวแล้วหลายครั้ง เช่น การปลดล็อคนโยบายที่บิดเบือนกลไกตลาดแบบถาวร เพื่อเปิดทางออกให้ห่วงโซ่การผลิตอาหารเดินหน้าต่อได้อย่างไม่สะดุด รวมถึงช่วยลดภาระการผลิตโดยลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบทุกรายการ และเร่งส่งเสริมปรับปรุงประสิทธิภาพการปลูกพืชวัตถุดิบให้มีอัตราผลผลิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือรัฐต้องพัฒนาการผลิตแบบยั่งยืนให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ล่าสุด ยังมีเผือกร้อนก้อนใหญ่โยนเข้ามาเมืองไทย เมื่อคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงใน “กฎหมายห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า” เพื่อมาจำหน่ายในสหภาพยุโรป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะกระทบต่อสินค้าหลายกลุ่มที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังอียู หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ (อาทิ เนื้อวัว เนื้อไก่) ที่สัตว์ในฟาร์มต้องกินอาหารสัตว์ที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ไม่รุกป่าเท่านั้น โดยไทยต้องจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานะของผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าไปขายว่า ตลอดห่วงโซ่การผลิตนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าแต่อย่างใด
คำถามคือวันนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย ปลูกในพื้นที่ที่ไม่รุกป่าทั้ง 100% แล้วหรือยัง? นี่จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ “รัฐบาล” ต้องกระตือรือล้นปรับปรุงกระบวนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชวัตถุดิบอื่นๆอย่างยั่งยืน ภายใต้ Green Economy โดยทันที ก่อนที่ประเทศไทยจะสูญเสียตลาดส่งออกเนื้อไก่ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศมูลค่ากว่าแสนล้านบาทไปอย่างน่าเสียดาย.
โดย ธนา วรพจน์วิสิทธิ์