ข่าว (News) สัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminant)

“แพะ”บอร์พันธุ์แท้ “แขมณรงค์ฟาร์มแพะ” ชัยนาท มั่นใจตลาดแพะเนื้อเติบโตได้

“แพะ” ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจ อีกชนิดที่น่าจับตามองและได้รับความนิยมจากเกษตรกร เนื่องจากดูแลจัดการไม่ยุ่งยาก ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น ให้ผลตอบแทนเร็ว ที่สำคัญมีความต้องการสูงทั้ง ตลาดสายพันธุ์และตลาดเนื้อ ส่งผลให้มีผู้สนใจเลี้ยงแพะเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ แขมณรงค์ฟาร์ม จังหวัดชัยนาท ที่เดินหน้าเลี้ยงแพะพันธุ์บอร์เลือดร้อย โดยนำเข้าพ่อพันธุ์แท้จากต่างประเทศเข้ามาพัฒนา ผลิตแพะป้อนตลาดสายพันธุ์  โดยเน้นขายผ่านทาง Facebook ให้เกษตรกรที่สนใจเข้ามาเลือกซื้อ สร้างรายได้ พร้อมตั้งเป้านำเทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้ามายกระดับการปรับปรุงพันธุ์ต่อเนื่อง มั่นใจตลาดแพะเนื้อยังเติบโตได้ 

ชรินทร์ วิทยาภรณ์ (หนึ่ง)

คุณชรินทร์ วิทยาภรณ์ (หนึ่ง) ผู้บริหารแขมณรงค์ฟาร์มแพะ เลขที่ 200 ม.9 ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท 088-772-7460 เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า เดิมคุณตาของภรรยาทำอาชีพเกษตรกรรมทั้ง นาข้าว เลี้ยงสุกรขุนอยู่แล้ว ก็มีความสนใจอยากเลี้ยงแพะเนื้อเพิ่ม เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ และต้องการให้ภรรยาที่เรียนจบสัตวแพทย์ได้มีกิจการเป็นของตนเอง จึงได้ยกที่นาให้ จากนั้นได้ปรับมาสร้างเป็นโรงเรือนเลี้ยงแพะ ทำให้ตนที่เป็นสถาปนิกจึงได้เข้ามาช่วยดูแล โดยเริ่มตั้งแต่การร่วมวางผังฟาร์ม ผังโรงเรือน พร้อมกับเข้าร่วมอบรมสัมมนาการเลี้ยง การจัดการฟาร์มแพะ การปรับปรุงพันธุ์ และการตลาด จากหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อนำความรู้มาใช้บริหารจัดการฟาร์ม

ในระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างแพะนมและแพะเนื้อพบว่า แพะนมมีรายละเอียดการบริหารจัดการมากกว่า จึงตัดสินใจเลี้ยงแพะเนื้อ เพราะนอกจากดูแลจัดการง่ายแล้วยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะสายพันธุ์แพะเลือดร้อยทั้งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ เริ่มเลี้ยงเมื่อ 4-5 ปีก่อน ด้วยการซื้อแม่พันธุ์บอร์เลือดร้อยเข้ามา 20 ตัว และพ่อพันธุ์บอร์เลือดร้อย 1 ตัว ต่อมาได้นำเข้าพ่อบอร์พันธุ์แท้จากต่างประเทศมาอีก 1 ตัว ตั้งเป้าปรับปรุงพัฒนาพันธุ์แพะเป็นพันธุ์แท้ที่ใกล้เคียงกับต่างประเทศมากที่สุด เนื่องจากเปรียบเทียบแพะเลือดร้อยในประเทศแล้วพบว่า ยังมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกับต่างประเทศ หรือลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างไม่นิ่ง ถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกไม่ได้

ปัจจุบันฟาร์มมีแพะประมาณ 70-80 ตัว และผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) จากกรมปศุสัตว์ เป็นการเลี้ยงผลิตลูกแพะ เพื่อเก็บตัวเมียไว้เป็นแม่พันธุ์ผลิตรุ่นถัดไป และใช้พ่อพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศมาผสม เพื่อให้ได้แพะพันธุ์แท้ที่มีลักษณะภายนอกนิ่ง ส่วนลูกตัวผู้จำหน่ายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงที่สนใจนำไปใช้เป็นพ่อพันธุ์คุมฝูงเป็นหลัก แต่ในปีที่ผ่านมา เริ่มจำหน่ายแม่พันธุ์ แม่อุ้มท้อง และลูกแพะเพศเมียด้วย

สาเหตุที่เน้นการใช้พ่อพันธุ์แท้จากต่างประเทศนั้น เพราะเห็นว่า พ่อพันธุ์เลือดร้อยในประเทศยังไม่ตอบโจทย์การปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ของฟาร์ม ต่างจากพ่อพันธุ์นำเข้าที่ผ่านการปรับปรุงพัฒนาและคัดเลือกมาเป็นอย่างดี โดยฟาร์มเลือกนำเข้าพ่อพันธุ์ที่เป็นลูกของพ่อพันธุ์ดีมีรางวัลยืนยัน มีลักษณะตรงตามความต้องการ และถูกใช้คุมฝูงในต่างประเทศเข้ามาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ โดยฟาร์มนำเข้าพันธุ์แท้ผ่านตัวแทนทั้งจากแอฟริกาใต้และอเมริกา ซึ่งฟาร์มมีพันธุ์แท้จากแอฟริกาใต้ แบ่งเป็นพ่อพันธุ์ 3 ตัว และแม่พันธุ์ 5 ตัว และมีพันธุ์แท้จากอเมริกา แบ่งเป็นพ่อพันธุ์ 1 ตัว และแม่พันธุ์ 2 ตัว

ฟาร์มนำแพะบอร์พันธุ์แท้สายอเมริกาเข้ามาใช้ปรับปรุงพันธุ์ เพราะในช่วงเล็กสวยกว่าแพะจากแอฟริกาใต้ เมื่อโตเต็มวัยมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่แพะจากอเมริกามีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้คัดเลือกและปรับปรุงพันธ์ร่วมด้วย ซึ่งจากการอบรม ปรึกษาคนเลี้ยงในวงการ และนักวิชาการ ทำให้ทราบว่า แพะบอร์ควรมีลักษณะทางกายภาพอย่างไร เช่น แม่พันธุ์ด้านข้างต้องเป็นสามเหลี่ยม คอยาว มีความเป็นแม่สูง ส่วนตัวผู้เน้นตัวใหญ่เติบโตเร็ว

การจัดการดูแลแพะนำเข้า ต้องใช้เวลาปรับตัวระยะหนึ่ง เพราะที่อเมริกาเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง อุณหภูมิเพียง 7 องศาเซลเซียส แต่ไทยอุณหภูมิสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดอาการหอบ ต้องรักษา ส่วนลูกที่ได้จากพ่อพันธุ์นำเข้าการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมจะดีขึ้น แต่ยังพบอาการหอบบ้างในช่วงฤดร้อน ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการระบายอากาศภายในโรงเรือนให้ดี นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการจัดการปรสิต พยาธิ เห็บ และไร เพราะแพะเลือดร้อยมีความไวมากกว่าแพะพื้นเมือง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หากละเลยก็อาจพบปัญหาผิวหนังจากปรสิต จึงต้องจัดการความชื้นภายในคอกให้ดี ไม่ให้พื้นคอกชื้น พร้อมกับพ่นยากำจัดปรสิตทั้งที่ พื้นคอก ภายนอกตัวแพะ และยาฉีด ก็จะช่วยลดปัญหาได้

ด้านอาหาร ฟาร์มมีแปลงหญ้า แต่จากการที่ปริมาณแพะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องปรับจากเดิมที่ตัดหญ้ามาให้กินต้องเปลี่ยนมาตัดแล้วสับให้กิน พร้อมกับตัดหญ้าบางส่วนมาหมักไว้ใช้ และหากช่วงใดที่ผลิตไม่ทันก็สั่งซื้อข้าวโพดหมักมาให้ โดยอาหารใช้หญ้าสับผสมกับอาหารเม็ดในอัตราส่วนหญ้า 100 กิโลกรัม ต่ออาหารเม็ด 15 กิโลกรัม เน้นให้หญ้ามากและใช้อาหารข้นเพื่อเพิ่มความน่ากิน นอกจากนั้นยังมีการเสริมหญ้าแพงโกล่าแห้ง ซึ่งการใช้อาหารลักษณะนี้ช่วยควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ฟาร์มทำพันธุ์ประวัติ จดบันทึกข้อมูลแพะทุกตัวว่า เกิดจากพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ตัวใด มีพี่น้องท้องเดียวกันกี่ตัว ต่างท้องกันกี่ตัว มีการทำวัคซีนป้องกันโรค ถ่ายพยาธิ และรักษาโรคอย่างไร ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า พร้อมกันนี้ ยังมีบริการรักษาแพะให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงบริการตรวจท้อง ด้วยการตรวจเลือดโดยมีห้องปฏิบัติการ ทำทราบว่า แพะท้องหรือไม่ภายใน 27 วันหลังการผสม ส่งผลให้เกษตรกรวางแผนจัดการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้านการตลาด ฟาร์มได้ใช้โซเซียลมีเดียเป็นช่องทางหลัก ด้วยการสร้าง Facebook Fanpage ตั้งแต่เริ่มทำฟาร์มและรับผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีแพะหย่านมพร้อมจำหน่าย ก็ถ่ายรูปโพสต์ หลังจากนั้นก็มีลูกค้าติดต่อเข้ามาขอซื้อทันที โดยลูกค้ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากโซเซียลมีเดีย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงในพื้นที่ใกล้เคียง (ชัยนาท สิงห์บุรี) ซึ่งความต้องการพ่อพันธุ์เลือดร้อย เพื่อใช้คุมฝูงค่อนข้างสูง ทำให้ผลิตออกมาแล้วขายได้ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับแม่พันธุ์ที่ราคาสูงกว่าพ่อพันธุ์แล้ว เนื่องจากมีความต้องการสูงเช่นกัน

ถึงแม้ไทยยังมีการบริโภคเนื้อแพะไม่มาก แต่ตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว เวียดนาม) ซึ่งจากประสบการณ์ที่เลี้ยงมา มั่นใจว่า “แพะจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแน่นอน” เพราะในอนาคตเชื่อว่า การบริโภคภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่การเลี้ยงของเกษตรกรก็ต้องพัฒนา จากเดิมที่ปล่อยก็ต้องปรับเข้าสู่ระบบมาตรฐานเพิ่มขึ้น และควรมีโรงเชือดชำแหละแพะมาตรฐานที่รับแพะจากฟาร์มมาตรฐานมาชำแหละทำตลาด ขณะที่ตลาดส่งออกก็ยังเติบโตได้

ในอนาคต ฟาร์มตั้งเป้าเป็นแหล่งพัฒนาและผลิตแพะบอร์พันธุ์แท้คุณภาพดี ด้วยการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เริ่มจากการผสมเทียมด้วยวิธีการยิงน้ำเชื้อผ่านช่องท้องเข้าสู่รังไข่ โดยไม่ผ่านช่องคลอด ซึ่งเป็นความร่วมมือกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ที่คาดว่าจะทำให้สำเร็จภายในปีนี้ พร้อมกับการเปิดคลีนิครักษาแพะและร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ รวมถึงบริการให้คำแนะนำปรึกษากับเกษตรกร และในปีต่อไปมีแผนรีดน้ำเชื้อพ่อพันธุ์เก็บไว้ใช้ และการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีการคัดเลือกจากยีน เพื่อให้ได้แพะพันธุ์แท้ที่ลักษณะที่ต้องการ เช่น อัตราการเจริญเติบโตสูง ระยะเวลาการขุนสั้น กินอาหารน้อยลง แข็งแรง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เพื่อเป็นแหล่งแพะพันธุ์ดีกระจายให้กับเกษตรกรได้นำไปใช้คุมฝูงยกระดับสายพันธุ์แพะในประเทศต่อไป นอกจากนั้นยังวางแผนผลิตหญ้าแพงโกล่าแห้งอัดก้อนขาย เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

“การเลี้ยงแพะเนื้อ ใช้ต้นทุนไม่สูงเหมือนกับการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น ทำแพะเนื้อ ปล่อยไล่ทุ่ง เหมือนกับในต่างประเทศ ไม่ต้องให้อาหารข้นมากก็เติบโตได้ แพะเลี้ยงง่าย จึงเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ  โรงเรือนสร้างง่ายๆ ก็อยู่ได้ และเชื่อว่า จะเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ หรืออาจทำเป็นอาชีพเสริมควบคู่กับการทำเกษตร ซึ่งหากมีที่และแหล่งอาหารก็จะเป็นอีกทางเลือกให้กับเกษตรกร เพราะแพะเนื้อทุกวันนี้ยังขายได้เรื่อยๆและยังไปต่อได้” คุณชรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com