ข่าว (News) สุกร (Pig)

โครงการ “TSVA” สัญจร เปิดอบรมหลักสูตร GAP กว่า 200 ฟาร์ม

        ผู้เลี้ยงหมูจังหวัดอุดรธานีและพื้นที่ปศุสัตว์ เขต 4 กว่า 200 ฟาร์มเข้าร่วมอบรมมาตรฐาน GAP โดย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ได้จัดโครงการ “TSVA” สัญจรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เปิดอบรมหลักสูตร “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ สำหรับผู้ประกอบการฟาร์มสุกร” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566ณ ห้องอุดรดุษฎี โรงแรมเจริญโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 

โดยมีคุณสิทธิภัณฑ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เกียรติเปิดงานในครั้งนี้ ภายในงานมีสมาชิกและเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมฝึกอบรมและชมนิทรรศการฟาร์มสุกรจากบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ เป็นจำนวนมาก

ในงานมีการบรรยายให้ความรู้ ในหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่หัวข้อ “ยกระดับไบโอซีเคียวริตี้เพื่อสู้ ASF จากของจริง” โดย สัตวแพทย์หญิง ดร.เมตตา เมฆานนท์ วิทยากรจากสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย โดยให้ความสำคัญเรื่องสาเหตุของการติดเชื้อเข้าสู่ฟาร์มเป็นอันดับหนึ่ง คือ เรื่องคนงาน ทั้งฟาร์มที่เลี้ยงรูปแบบเปิด และฟาร์มปิดที่ใช้ระบบ EVAP (Evaporative cooling system) ก็สามารถติดเชื้อได้ หากไม่มีการควบคุมที่เข้มงวด พนักงานจำเป็นต้องมีการอาบน้ำแบบละเอียดก่อนเข้าฟาร์มทุกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันการสเปรย์ยาฆ่าเชื้อ ไม่เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้าฟาร์มได้ และการเดินข้ามเขตของพนักงานแต่ละแผนกก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อเข้าไปได้ ส่วนสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น นก หนู แมลงวัน สุนัข และแมว ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถนำเชื้อเข้าสู่ฟาร์มได้ ซึ่งต้องมีการจัดการที่ดี

นอกจากนี้การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ภายในฟาร์ม เช่น เข็ม ไซริงค์ และอุปกรณ์การให้อาหารและยา ที่ใช้ร่วมกันอาจมีส่วนทำให้เกิดการกระจายของเชื้อ ASF ส่งผลให้เกิดความเสียหายได้ รวมถึงการใช้เศษอาหารเลี้ยงหมู ปล่อยให้คนจับหมูเดินเข้าเขตเลี้ยงหมู และรถยนต์นอกฟาร์ม ดังนั้น การยกระดับไบโอซีเคียวริตี้ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จประกอบด้วย 3 เป้าหมายหลัก คือ 1. ตัดโอกาสเชื้อเข้าฟาร์ม 2. ตัดโอกาสการกระจายเชื้อภายในฟาร์ม 3. กำจัดเชื้อให้หมดในฟาร์ม

หัวข้อ “รายย่อยทำอย่างไรจึงรอดพ้น ASF” โดยคุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ เลขานุการชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชูแนวคิดบันได 3 ขั้น (คนเลี้ยงหมู , หมูเลี้ยงหมู และหมูเลี้ยงคน) ปกป้องหมูเท่ากับปกป้องอาชีพ มาตรฐานฟาร์มมาตรฐานศูนย์ผลิตน้ำเชื้อ และให้ความสำคัญเรื่อง ระบบการป้องกันโรคและเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Biosecurity , GFM และ GAP) เป็นการยกระดับและผลักดันให้ฟาร์มขนาดกลางและรายย่อยให้มีระบบการป้องกันโรค และการจัดการที่ดีโดยมีพื้นฐานการเลี้ยงสัตว์ตามมาตรา 7 แห่ง พรบ. โรคระบาดสัตว์พ.ศ. 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานต่างๆ เป็นการป้องกันโรค และมีระบบไบโอซีเคียวริตี้ที่ดี รวมถึงการปรับรูปแบบการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ที่ส่งผลต่อความอยู่รอด

ต่อด้วยหัวข้อ “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำฟาร์มปศุสัตว์” โดย นายสัตวแพทย์ปัญญาวัฒน์ ใสกาง นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 4 และหัวข้อสุดท้าย “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ สำหรับผู้ประกอบการฟาร์มสุกร” โดย สัตวแพทย์หญิงเกศวดี โคตรภูเวียง นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 4

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com