ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 หลายประเทศมีสัญญาณการระบาดระลอกที่ 2 ทั้งในสหรัฐ ยุโรปจีน และเกาหลีใต้ ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ของผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของโลกต้องถูกปิดเป็นการชั่วคราว หลังมีคนงานติดเชื้อและเสียชีวิต
อย่างในประเทศผู้ผลิตเนื้อสัตว์อันดับ 1 อย่างสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว ต้องปิดโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปไปเกือบ 100 แห่ง ทั้งโรงชำแหละหมู โรงชำแหละไก่ และโรงชำแหละวัว ส่งผลต่อปริมาณรวมของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในสหรัฐฯ ลดลงถึง 25%
โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ของโลก ที่ต้องปิดโรงงานในรัฐไอโอวา เป็นการชั่วคราว หลังพบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก โดยโรงงานแห่งนี้มีการชำแหละหมูได้สูงสุดถึง 17,250 ตัวต่อวัน คิดเป็น 3.5% ของกำลังการผลิตในสหรัฐฯ
ขณะที่อีกบริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่และเนื้อหมูชั้นนำของโลกและของสหรัฐฯ ต้องปิดโรงงานเช่นกัน เนื่องจากมีคนงานถึง 13% ของโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกใน Northwest Arkansas ติดเชื้อโควิด รวมทั้งที่โรงงานแปรรูปเนื้อหมูในรัฐไอโอวา ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด ซึ่งวันนี้ครอบครัวของพนักงาน 3 รายของบริษัทที่เสียชีวิต ได้ยื่นฟ้องบริษัทและผู้บริหาร โดยระบุว่าบริษัทรู้ว่ามีโควิดระบาดอยู่ที่โรงงาน แต่ปิดบังพนักงานเพื่อให้ยังสามารถทำงานได้ต่อไป
ข้ามฝั่งมาทวีปยุโรป บริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี พบผู้ติดเชื้อโควิด 1,331 ราย ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์และแปรรูปเนื้อสัตว์ ในเมืองกือเทอร์สโล รัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลิน ทางตะวันตกของเยอรมนี ซึ่งมีกำลังการผลิตเนื้อสดและแช่แข็งราว 850 ตันต่อวัน มีการส่งออกถึง 50% การพบผู้ติดเชื้อดังกล่าว ทำให้ทางการเยอรมนีต้องตรวจสอบอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์รรายอื่นๆอย่างละเอียด
ที่สำคัญยังลุกลามไปถึงการที่จีน สั่งระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากโรงฆ่าสัตว์ โรงงานตัดแต่งเนื้อสัตว์ และห้องเย็นของบริษัทดังกล่าว ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคเนื้อสัตว์อันดับหนึ่งของโลก ในปี 2562 ที่ผ่านมาจีนบริโภคเนื้อหมูถึง 49 ล้านตัน และบริโภคเนื้อไก่ 13 ล้านตัน การประกาศห้ามนำเข้าเนื้อหมูจากเยอรมนี รวมไปถึงการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากสหรัฐฯ ย่อมกระทบกับปริมาณเนื้อสัตว์สำหรับผู้บริโภคชาวจีนอย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากนี้ ผลกระทบจากโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในหมู ที่ระบาดในจีนก่อนหน้านี้ ทำให้จีนจำเป็นต้องนำเข้าเนื้อสัตว์จากประเทศอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศข้างเคียงที่มีพรมแดนติดกัน อย่างเช่น เวียดนาม จึงคาดว่าผู้ประกอบการเลี้ยงหมูในเวียดนามโดยเฉพาะในภาคเหนือจะส่งออกหมูไปจีนมากขึ้น ทำให้ราคาหมูเป็นเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ในเวียดนามเองก็ต้องเผชิญกับ ASF ที่ระบาดเป็นระลอกที่สอง ทำให้ผลผลิตหมูในเวียดนามลดลงอย่างมาก กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) ของเวียดนาม จึงอนุญาตให้นำเข้าหมูมีชีวิตจากประเทศไทย สำหรับเลี้ยงและชำแหละเป็นครั้งแรก เพื่อแก้ไขปัญหาราคาหมูที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดภายในประเทศ โดยหมูมีชีวิต 500 ตัวแรกจากไทยไปเวียดนามแล้วเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
การระบาดของ ASF ทั้งในจีน ฟิลิปปินส์ รัสเซีย และการกลับมาระบาดรอบใหม่ในมณฑลยูนนานของจีน เวียดนาม และเมียนมา ส่งผลให้อุปทานหมูในภูมิภาคตึงตัวยิ่งขึ้น ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ ช่วยกระตุ้นการบริโภคเนื้อสัตว์ให้กลับมาเพิ่มขึ้น ทั้งสองสถานการณ์ผลักดันให้ราคาหมูมีชีวิตทั่วโลกและราคาหมูมีชีวิตในภูมิภาคกลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว
พบว่าราคาหมูมีชีวิตในจีนพุ่งขึ้นถึง 141 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามราคาสูงถึง 109 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชาราคา 97 บาทต่อกิโลกรัม เมียนมา 81 บาทต่อกิโลกรัม
ขณะที่ประเทศไทยที่ยังคงสถานะปลอดโรค ASF จนถึงปัจจุบัน ราคาหมูเป็นยังอยู่ที่ 70-78 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณการผลิตหมูยังคงเพียงพอกับการบริโภคของคนไทย จนถึงขั้นเหลือเกินความต้องการในบางช่วง ไม่เคยมีปัญหาขาดแคลนดังที่เกิดขึ้นกับแทบทุกประเทศในภูมิภาคนี้ และราคาหมูไทยยังถูกที่สุดด้วย
การหยุดชะงักของอุปทานเนื้อสัตว์ในตลาดโลกจึงเป็นโอกาสทองที่ไทยต้องรีบคว้า หลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการ โดยเฉพาะผู้บริโภคหลักของโลกอย่างจีน ที่เริ่มสั่งซื้อสินค้าเข้าประเทศแล้ว โดยเดือนเม.ย. จีนทำสถิตินำเข้าเนื้อหมูมากถึง 400,000 ตัน หรือเพิ่มเกือบ 170% จากช่วงเดียวกันของปี 2562
หมูไทยที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการและถูกจับตามองจากทุกประเทศ จึงน่าจะเป็นเรือธงนำพาเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นหลังโควิดได้ไม่ยาก ขอเพียงความเข้าใจและการทำงานผลักดันอย่างจริงจังของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เพราะหากหมูไทยโลดแล่นในตลาดโลกได้ เกษตรกรก็จะลืมตาอ้าปากได้หลังจากต้องเผชิญปัญหาขาดทุนสะสมมาถึง 3 ปี ต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชในห่วงโซ่ก็จะได้รับประโยชน์จากการขายผลผลิตเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ช่วยหนุนราคาพืชผลเกษตรกร ให้พวกเขาต่อชีวิตได้หลังต้องทุกข์ระทมเพราะพิษโควิด เรียกว่า Win-Win กันทุกฝ่ายทั้งประเทศชาติและเกษตรกร