ข่าว (News) นานาปศุสัตว์ (Animal News) วิชาการปศุสัตว์ (Livestock Article) สัตว์ปีก (Poultry)

“ไก่” ไม่ใช่ปัจจัยส่งผลให้เด็กโตเร็ว – ปศุศาสตร์ นิวส์

หนึ่งในอาหารที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเชื่อว่าเป็นตัวการทำเด็กโตเร็วก็คือ “ไก่” ดังที่เคยได้ยินคำถามจากหลายท่านว่าเป็นเพราะกินไก่หรือเปล่า? แม้นักวิชาการ สัตวแพทย์ ตลอดจนเกษตรกรผู้ลี้ยงไก่เนื้อ จะยืนยันตลอดมาว่าไม่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งโตในการเลี้ยงไก่ของไทยมานานกว่า 30 ปีแล้ว ด้วยเหตุผลว่าผิดกฏหมาย ขณะที่ต้นทุนค่าฮอร์โมนแพงมาก ไม่คุ้มทุนที่จะใช้ และหากใช้ต้องฉีดทุกวัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะจับไก่ทุกตัวในโรงเรือนที่มีไก่นับหมื่นนับแสนตัวมาฉีดทุกวัน

ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายเหตุผลว่า ทำไมไก่ในปัจจุบันจึงเติบโตเร็วกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ โดยคัดเลือกสายพันธุ์ตามธรรมชาติ คุณภาพโรงเรือนเลี้ยงไก่ที่ปลอดภัย มีการควบคุมอุณหภูมิและแสงให้ไก่อยู่สบาย ปราศจากสัตว์พาหะรบกวน การผลิตอาหารไก่ที่ควบคุมสารอาหาร และแคลลอรี่ให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัยของไก่ หรือแม้แต่ระบบป้องกันโรค และการบริหารจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ กระทั่งไก่ไทยกลายเป็นสินค้ามาตรฐานส่งออกอันดับ 4 ของโลก ทั้งๆ ที่เป็นเพียงประเทศเล็กๆ เหตุผลทั้งหมดการันตีความน่าเชื่อถือด้วยการที่ประเทศคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ไม่เคยตรวจพบสารฮอร์โมนตกค้างในไก่จากประเทศไทยเลย สอดคล้องกับกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อหลายท่านที่ยกตัวอย่างเด็กหญิงมุสลิมซึ่งรับประทานไก่เป็นประจำกลับไม่พบภาวะโตเร็ว เป็นต้น กระทั่งวันนี้มีผลงานวิจัยระดับประเทศชิ้นหนึ่งที่สำรวจพฤติกรรมเด็กๆ เกือบหมื่นคน ออกมายืนยันชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่า “เนื้อไก่ไม่ส่งผลต่อการเข้าสู่วัยสาวเร็วขึ้นหรือช้าลง”

ข้อมูลดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการศึกษาสถานการณ์การเข้าสู่วัยสาวของเด็กไทย” โดยคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ได้แก่ ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ , รศ.ดร.ธนินี สหกิจรุ่งเรือง , อ.นพ.คมศักดิ์ ศรีลัญฉกร และ อ.อัครนัย ขวัญอยู่ ซึ่งทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำวิจัยเรื่องเด็กโตเร็วในประเทศไทย กระทั่งได้ผลการวิจัยที่เชื่อถือได้ ถูกต้องตามหลักสถิติและประชากรศาสตร์ เป็นอีกผลงานชิ้นโบว์แดงที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ทุนวิจัย

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้สุ่มเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างนักเรียนหญิงระดับชั้น ป.3-ม.3 จำนวน 8,161 ตัวอย่าง จาก 95 โรงเรียนทั่วทุกภาคของประเทศ โดยสำรวจครอบคลุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องและพบว่าปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ เช่น การมีประจำเดือนครั้งแรกของมารดา ฯลฯ ปัจจัยด้านกายภาพ เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก ระดับไขมันในร่างกาย มวลกล้ามเนื้อ ฯลฯ และปัจจัยเรื่องพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เช่น การรับประทานอาหารจำพวกขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ชา กาแฟ อาหารฟาสต์ฟูด หรือการรับประทานอาหารเสริม (เช่น วิตามินประเภทต่างๆ) และการใช้เครื่องสำอางเวชภัณฑ์ ฯลฯ ส่งผลให้เด็กมีประจำเดือนครั้งแรกเร็วขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยผลวิจัยยังพบว่าเด็กเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกอายุน้อยที่สุดคือ 7.96 ปี และกลุ่มตัวอย่างที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกอายุมากที่สุดคือ 16.92 ปี ค่าเฉลี่ย (Mean) อยู่ที่อายุ 11.57 ปี นับว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าข้อมูลในปี 2556 ซึ่งพบว่าในขณะนั้น เด็กไทยมีประจำเดือนครั้งแรกอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 11.80 ปี อย่างไรก็ตามการเป็นสาวก่อนวัยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา และยุโรป รวมถึงภูมิภาคเอเชีย

หวังว่าผลการวิจัยนี้ จะเป็นจุดคลายล็อคความเชื่อเดิมที่ว่าไก่ทำให้เด็กโตเร็ว ได้หายไปจากความทรงจำของพ่อแม่ผู้ปกครอง และเปิดโอกาสให้ “ไก่” ทำหน้าที่ “พระเอก” มอบสารอาหารที่มีประโยชน์ เป็นโปรตีนเนื้อขาวทรงคุณค่าของเด็กๆ ทุกคนได้อย่างเต็มที่เสียที

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com