ข่าว (News) ข่าวประชาสัมพันธ์ (Newsletter) นานาปศุสัตว์ (Animal News)

ไขข้อข้องใจกับ “พรบ.วิชาชีพการสัตวบาล” – ปศุศาสตร์ นิวส์

หลายคนคงได้ยินกันมานานพอสมควรแล้วเกี่ยวกับพรบ.วิชาชีพการสัตวบาล ซึ่งบางท่านอาจสงสัยในบางประเด็นแล้วต้องการหาคำตอบ ฉะนั้นจึงรวบรวมบางคำถามที่เกิดข้อสงสัยมาให้ทำความเข้าใจ เพื่อความกระจ่างในข้อสงสัยนี้ แต่มีอะไรบ้าง? ติดตามได้จากคำถามด้านล่างนี้

ปุจฉา : ประชาชนได้ประโยชน์อะไร จากพรบ. วิชาชีพการสัตวบาล

วิสัชนา : การเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบัน มีสัตวบาลเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบอย่างใกล้ชิดตลอดกระบวนการผลิตสัตว์อยู่แล้ว เมื่อพรบ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นักสัตวบาลเหล่านี้ต้องผ่านการอบรมและทดสอบความรู้ เพื่อขอขึ้นทะเบียนและใบประกอบวิชาชีพจาก “สภาสัตวบาล” ซึ่งจะทำให้บุคคลเหล่านี้มีมาตรฐานในการปฏิบัติงานเท่าเทียมกันทางด้านความรู้ ความรับผิดชอบต่อสังคม และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ อันเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าจะได้รับผลิตผลที่มีความปลอดภัยต่อการบริโภค นอกจากนั้น “สภาสัตวบาล” ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งของรัฐ ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยทางด้านวิชาการและการฝึกอบรม เพื่อยกมาตรฐานการผลิตสัตว์ให้ทัดเทียมกับผู้ประกอบการเชิงการค้ารายอื่นๆ ได้

ปุจฉา : ผมเป็นเจ้าของฟาร์มไก่ไข่รายเล็ก มีไก่ไข่ 3 หลัง เลี้ยงเอง มีคนงาน 4-5 คน มีหัวหน้างาน จบม.3 ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?

วิสัชนา : ถ้ามีจำนวนไก่รวมทั้งฟาร์มไม่เกินกำหนดก็สามารถดูแลรับผิดชอบการเลี้ยงไก่ได้เอง จะไม่ได้รับผลกระทบจาก พรบ.ฉบับนี้ แต่ถ้ามีจำนวนไก่รวมทั้งฟาร์มเกินกำหนด (ตั้งแต่ 1,000 ตัวขึ้นไป อนึ่งข้อกำหนดนี้อาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมเมื่อพรบ. ฉบับนี้ประกาศใช้บังคับแล้ว) ผู้ดูแลรับผิดชอบการเลี้ยงไก่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ

ปุจฉา : ผมจบราชมงคล ปวช. ทำงานแล้วหลายปีในฟาร์มไก่เนื้อขนาดกลาง จะต้องปฏิบัติอย่างไร?

วิสัชนา : ถ้าระบุว่าเป็นสาขาสัตวบาล ท่านก็มีสิทธิ์สมัครเข้าเป็นสมาชิกสภาสัตวบาล และขอขึ้นทะเบียนและขอใบประกอบวิชาชีพได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ไม่มีสิทธิ์ การแก้ปัญหา ทำได้โดยการศึกษาต่อระดับ ปวส.สาขาสัตวบาล เมื่อจบแล้วก็จะมีสิทธิ์ดังกล่าว ถ้าไม่ศึกษาต่อก็สามารถทำงานด้านอื่นที่ไม่ใช่งานระดับหัวหน้าผู้ดูแลรับผิดชอบการเลี้ยงสัตว์ เช่น งานด้านธุรการหรือการตลาด เป็นต้น

ปุจฉา : พรบ. ฉบับนี้จะส่งผลกระทบกับเจ้าของฟาร์ม เพราะอาจต้องจ้าง “สัตวบาล” แพงขึ้น?

วิสัชนา : เจ้าของฟาร์มที่เลี้ยงสัตว์เชิงการค้า ส่วนใหญ่จะจ้างผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยงานในระดับหัวหน้าผู้ดูแลรับผิดชอบการเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของตนเอง เมื่อ พรบ. นี้มีผลบังคับใช้ ผู้ดูแลรับผิดชอบการเลี้ยงสัตว์ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อเจ้าของฟาร์ม เพราะจะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่าได้ผู้ร่วมงานที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ และยังมีองค์กร “สภาสัตวบาล” ช่วยสอดส่องดูแลการทำงานและความประพฤติของบุคคลดังกล่าวให้ทำแต่สิ่งดีๆ อีกด้วย ส่วนการจ้างงานบุคคลในระดับนี้ ย่อมเป็นไปตามความพึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย ที่จะตกลงกัน ซึ่งในฟาร์มหนึ่งๆ จะมีบุคคลระดับนี้เพียง 1-2 คนเท่านั้น ย่อมไม่กระทบต่อการลงทุน แต่กลับจะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนให้กับเจ้าของฟาร์มมากกว่าการจ้างบุคคลที่ไม่อาจทราบความรู้ความสามารถที่แท้จริงของเขา

ปุจฉา : ผมจบสัตวบาล วทบ. (สัตวบาล) คิดว่าน่าจะเพียงพอแล้ว ไม่น่าจำเป็นต้องเกี่ยวข้องด้วยเลย ซึ่งต้องเสียเงินค่าวิชาชีพโดยไม่จำเป็น ปีละร่วม 1,000 บาท

วิสัชนา : การออกกฎหมายโดยทั่วไป เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน หรือเป็นการกำหนดหน้าที่ให้ประชาชนต้องปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของรัฐในด้านต่างๆ เช่น สังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสุขอนามัยของประชาชน เป็นต้น ตามพรบ.นี้ มุ่งเน้นการควบคุมและกำกับดูแลบุคคลผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบตลอดกระบวนการผลิตสัตว์ เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารที่มาจากสัตว์หรือผลิตผลของสัตว์ ผู้ที่จบปริญญาสาขาสัตวบาล คือผู้ที่มีสิทธิ์ขอขึ้นทะเบียนและรับใบประกอบวิชาชีพสัตวบาลตาม พรบ.นี้ ซึ่งไม่ใช่สิทธิ์ที่คนทั่วไปจะทำได้ มีลักษณะเหมือนกับ พรบ.วิชาชีพในสาขาอื่นๆ ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่ท่านเสียไป จึงไม่ใช่การเสียเปล่า แต่เป็นการได้มาซึ่งสิทธิในการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายที่คนทั่วไปทำไม่ได้ แต่ถ้าท่านไม่ใช่สิทธินี้ ท่านก็ไม่สามารถทำงานในฐานะ “ผู้ประกอบวิชาชีพสัตวบาล” เช่นกัน

ปุจฉา : โดยปกติการออกกฏหมายที่จำกัดสิทธิ์หรือให้โทษ จะไม่รอนสิทธิ์ บุคคลที่ดำเนินการก่อนหน้าที่กฎหมายออกการออกพรบ. วิชาชีพการสัตวบาลนี้ มีลักษณะแบบเดียวกันใช่หรือไม่?

วิสัชนา : ตามหลักทั่วไป ข้อบังคับที่จำกัดสิทธิหรือการกำหนดหน้าที่ให้ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติตาม จะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้หรือตามที่กำหนด ผลบังคับทางอาญาจะย้อนหลังเฉพาะผลที่เป็นคุณ ส่วนผลที่เป็นโทษย้อนไม่ได้ กรณีกฎหมายขัดหรือแย้งกัน (ส่วนใหญ่กฤษฎีกาจะไม่ให้เกิดเรื่องนี้อยู่แล้ว) กฎหมายที่ออกภายหลังจะมีผลที่ดีกว่า พรบ. ทุกฉบับมีศักดิ์เท่ากัน มีศักดิ์สูงกว่าพระราชกฤษฎีกา แต่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมายศักดิ์ที่ต่ำกว่าจะขัดกับกฎหมายศักดิ์ที่สูงกว่าไม่ได้ เช่น พรบ.วิชาชีพการสัตวบาลจะจำกัดสิทธิบุคคลทั่วไปไม่สามารถประกอบวิชาชีพสัตวบาลได้ เว้นแต่ผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการประกอบอาชีพ จะเห็นว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามการประกอบอาชีพ แต่ห้ามการประกอบวิชาชีพฯ (ตามเงื่อนไขในกฎหมาย) และผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา

นี่คือคำถามบางส่วนที่ผู้สงสัยสอบถามกันเข้ามา และคงได้รับคำตอบที่ชัดเจน เพื่อไขข้อสงสัยเกี่ยวกับพรบ. วิชาชีพการสัตวบาลฉบับนี้ ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามกันมาได้ ทางเราจะรวบรวมส่งให้คณะกรรมการของสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ ได้ตอบข้อสงสัยต่อไป

ขอขอบคุณ : สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com