เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรหลายท่านคงทราบประกาศเกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐาน GAP เป็นภาคบังคับมาบ้างแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้มาตรฐานดังกล่าวเจ้าของฟาร์มบางฟาร์มได้เริ่มทำไปบ้างแล้วแบบสมัครใจ ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ปัจจุบันมีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการวิชาการ (กว.) กำหนดให้มาตรฐานฟาร์มสุกรเป็นมาตรฐานบังคับ โดยมีขอบข่ายการบังคับใช้ และระยะเวลาปรับเปลี่ยนแบ่งเป็น 2 ระยะ แตกต่างกันตามขนาดของการเลี้ยงสุกร
ดังนั้นทำให้หลายท่านเกิดข้อสงสัยว่าฟาร์มของตนเข้าข่ายที่จะต้องทำหรือไม่ อย่างไร
น.สพ.โสภัชย์ ชวาลกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ เผยกับ ปศุศาสตร์ นิวส์ ว่า มาตรฐาน GFM (Good Farming Management) เป็นแนวทางการยกระดับมาตรฐานการทำปศุสัตว์ขั้นต้น ด้วยระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย ไม่มีจำนวนขั้นต่ำและเป็นมาตรฐานสมัครใจของกรมปศุสัตว์
ส่วนมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) เป็นมาตรฐานการปฏิบัติการทางเกษตรที่ดีสำหรับปศุสัตว์ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวจะถูกผลักดันให้เป็นมาตรฐานบังคับ เป็นมาตรฐานที่บ่งบอกถึงความพร้อมของฟาร์ม มีสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม มีการควบคุมเรื่องของการใช้ยาสำหรับฟาร์มเลี้ยงสุกรที่มีจำนวนสุกรขุน 500 ตัวขึ้นไป หรือสุกรแม่พันธุ์ 95 ตัวขึ้นไป สำหรับฟาร์มที่เลี้ยงสุกรขุนและสุกรแม่พันธุ์ หากตัวเลขอย่างใดอย่างหนึ่งมีจำนวนที่มาตรฐานกำหนด จะต้องขอรับรอง GAP ส่วนฟาร์มรายย่อยที่เลี้ยงน้อยกว่านี้ก็สามารถขอรับรองมาตรฐาน GAP ได้เช่นกัน แต่ไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมาย
ทั้งนี้มาตรฐานบังคับใหม่จะมีหัวข้อใกล้เคียงกับ GAP ภาคสมัครใจที่มีมาก่อนหน้านี้ แต่จะลดลงเหลือเพียง 7 ข้อ ได้แก่
1. องค์ประกอบฟาร์ม 2. การจัดการฟาร์ม 3. บุคลากรฟาร์ม 4. สุขภาพสัตว์ 5. สวัสดิภาพสัตว์ 6. สิ่งแวดล้อม 7. การบันทึกข้อมูล
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เพิ่มเติมจากการขอรับรองมาตรฐาน GAP คือต้องขอใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับไว้ที่ฟาร์มด้วย
ฉะนั้นเมื่อมีการประกาศราชกิจจานุเบกษาจะมีขอบข่ายการบังคับใช้ และระยะเวลาปรับเปลี่ยน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1. สุกรขุนตั้งแต่ 1,500 ตัวขึ้นไป หรือแม่สุกรตั้งแต่ 120 ตัวขึ้นไป ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 90 วัน
ระยะที่ 2 สุกรขุนตั้งแต่ 500-1,499 ตัว หรือแม่สุกร 95-119 ตัว ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยน 180 วัน นับจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา
ประโยชน์ที่ได้รับจากการขอรับรองมาตรฐานบังคับ สุกร จะมีการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคที่ดีขึ้นจากความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ที่กำหนดในมาตรฐาน GAP และมีสวัสดิภาพที่ดีในฟาร์ม ส่วนเกษตรกรที่ดำเนินการตามมาตรฐาน นอกจากป้องกันโรคระบาดสัตว์ ลดการสูญเสีย มีการจัดการฟาร์มที่ดีขึ้นทั้งในเรื่องของอาหาร ผลผลิตที่ดีขึ้นจากการที่สุกรมีสุขภาพดี แข็งแรง ไม่เกิดโรค รวมถึงสิทธิพิเศษจากกรมปศุสัตว์ในการเข้าไปให้ข้อมูลและการเฝ้าระวังโรค สามารถลดค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างในการตรวจแลป อำนวยความสะดวกในเรื่องของการเคลื่อนย้ายสุกรได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสุกรมีสุขภาพที่ดี สามารถต่อยอดในการส่งออกได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีผลดีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการร้องเรียน เนื่องจากมีการจัดการด้านมลภาวะจากฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็น กลิ่น เสียง น้ำเสีย หรือสัตว์พาหะอื่นๆ ช่วยให้ฟาร์มอยู่ร่วมกันชุมชนได้
หากไม่ปฏิบัติตามมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 (กรณีมีการค้าขายสุกรออกจากฟาร์ม) ดังนี้
ม.20 หากไม่ขออนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ มีโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท
ม.27 หากไม่ขอรับรองมาตรฐานบังคับ GAP ปรับไม่เกินห้าแสนบาท
ม.55 หากไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
อย่างไรก็ตามขั้นตอนการขอใบรับรองมาตรฐานบังคับ GAP สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือจังหวัดใกล้บ้านท่าน