แอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) โรคหมู ที่เกษตรกรต้องรู้ และเฝ้าระวัง! >>อ่าน ASF เพิ่มที่นี่<<
“คงจะไม่มีวิกฤตไหนที่จะร้ายแรงที่สุดในวงการหมู เท่ากับวิกฤตโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้อีกแล้ว”
จากสถานการณ์การระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ African Swine Fever (ASF) ในภูมิภาคเอเชีย มีการทำลายหมูไปแล้วหลายล้านตัว และยากจะคาดเดาว่าจะลดลงไปอีกเท่าไหร่ถ้าสถานการณ์โรคไม่คลี่คลาย เนื่องจากปัญหาการหยุดพักเลี้ยงหมูจากฟาร์มที่เกิดโรค การเลิกหรือหยุดทดแทนฝูงเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนย้าย การเลิกขยายฝูง การเลิกสร้างฟาร์มใหม่ และการเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นเพราะกลัวโรคระบาด เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทยและภูมิภาคเอเชียเป็นอย่างมาก
เเม้ว่าทางกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยจะพยายามนำเสนอข่าวสารและข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะพยายามทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้โรคนี้เข้าประเทศไทย บางท่านถึงกับบอกว่าประเทศไทยมีความพร้อมและได้เปรียบที่สุดแล้ว แต่ก็ยังไม่ทำให้ผู้เลี้ยงคลายความกังวลลงได้ เพราะโรคก็ยังระบาดไม่หยุด ใกล้ที่สุดตอนนี้ที่จะมีโอกาสเข้าประเทศไทยได้แก่ เขตตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา และ เขตชายแดนไทย-ลาว ระยะทางรวมกันเกือบ 2,000 กิโลเมตร คงเป็นการยากที่กำลังเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลได้ทั่วถึง แม้ว่าปัจจุบันจะสามารถสกัดกั้นเอาไว้ได้ เพราะความพยายามร่วมมือกันของคนไทยอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช แต่อนาคตก็ยังมีโอกาสพลาดขึ้นมาได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
อยากให้คนไทยทุกคนเร่งเห็นความสำคัญ และร่วมมือกันทุกฝ่าย ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่ใช่เปิดดูข่าวคราวว่าระบาดถึงจุดนั้นจุดนี้จากอินเตอร์เนตหรือเว็บไซต์ต่างๆ เพียงอย่างเดียว ต้องออกไปทำหน้าที่ของแต่ละคน ทำเท่าที่เราทำได้ และไม่ต้องว่า หรือกล่าวหาคนอื่น และก็ไม่ต้องสนใจคนที่กล่าวหาว่าเราทำไม่ดี ทำไม่ถูกต้อง ให้เราทำหน้าที่ของเราไปให้เต็มที่ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่พอรวมกันเข้า ก็จะเป็นผลงานชิ้นใหญ่ ที่เราอาจคาดไม่ถึงก็ได้ ถึงขั้นสามารถปกป้องอาชีพการเลี้ยงหมูของไทย โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีถึงเกือบ 180,000 ราย ที่ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงที่สุดสำหรับโรคนี้
การก้าวข้ามวิกฤต ASF เราจะหวังพึ่งระบบป้องกันโรคอันยอดเยี่ยม นักวิชาการฝรั่งที่ชื่อเสียงโด่งดังระดับแนวหน้าของโลกก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าแค่กฏ 10 ข้อห้าม เรายังทำกันไม่ได้ 100% ขอให้เชื่อมั่นในพลังของชาติเรา พลังของคนไทย เเล้วเราจะไม่ผิดหวังแน่นอน
วิธีการป้องกันโรคคิดว่า ทุกวันนี้ ทุกคนรู้กันเกือบหมดแล้ว เหลือแต่ว่า เราจะทำกันยังไงให้สามารถปฏิบัติได้จริง อาจารย์ สัตวแพทย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ หมดเวลาที่จะมาสัมมนาว่าสถานการณ์โรคเป็นยังไง การป้องกันทำยังไง แต่ต้องรุกให้หนักด้านการปฏิบัติจริง โดยการลงพื้นที่จริง เน้นการคุยกันในเรื่องปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน เช่น งบประมาณ กำลังคน ผลกระทบ เป็นต้น กำหนดขั้นตอนเมื่อฟาร์มเกิดโรคให้ชัดเจน (ถึงขั้นระบุชื่อใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ รายงานผลเป็นอย่างไร แก้ปัญหาด้วยวิธีไหนถ้าไม่เป็นไปตามแผน) ซ้อมแผนการรับมือให้เข้าถึงทุกระดับหรือประเภทฟาร์ม เพราะเมื่อเกิดโรคขึ้นมาจริงๆ จะทำอะไรไม่ถูกแน่นอนถ้าไม่ซ้อมไว้ก่อน ถึงจะซ้อมไว้ 100 ครั้งแล้วยังไม่ได้ มันก็ยังถือว่าคุ้มแล้วสำหรับสถานการณ์แบบนี้
ที่สำคัญ “อย่าท้อ” และ “อย่าหนี” ต้องสู้กับมันให้ถึงที่สุด เรียนรู้ประสบการณ์จากเพื่อนบ้าน ทั้งด้านดีและข้อผิดพลาด ทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยเฉพาะในด้านที่เป็นบวกคิดว่า ณ เวลานี้สำคัญที่สุด เพื่อลดความหดหู่ หมดหวัง และเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ เช่น สเปนกำจัดโรคได้ ถึงแม้ต่อสู้กันหลายปี รัสเซียมีระบาดตั้งแต่ปี 2007 ผ่านมา 14 ปีแล้ว ถึงแม้ไม่จบแต่ก็ไม่ระบาดรุนแรงถือว่าควบคุมได้
ทวีปยุโรป ถือเป็นต้นแบบการควบคุมโรคที่ดีที่สุด หลังจากการระบาดของโรครัฐบาลท้องถิ่นได้ใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันและควบคุมมาตรการเฉพาะ ได้แก่ การทดสอบการสุ่มตัวอย่างตรวจ ASF สำหรับสุกรในประเทศและหมูป่าและการใช้มาตรการป้องกันในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส ASF มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
ประเทศไทยถ้าร่วมมือกันจริงจัง จะสามารถก้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้แน่นอน เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นภาพความสามัคคี ความร่วมมือ ความมีน้ำใจ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่แย่งพรรคแบ่ง ไม่มีเส้นแบ่งกั้นด้วยการแข่งขันและผลประโยชน์ทางธุรกิจ ของคนในวงการหมูแบบที่เป็นอยู่นี้แน่นอนถ้าไม่มีการระบาดของโรค ASF จ่อเข้ามาที่ประเทศไทย
ประเทศไทยมีจุดแข็ง 3 ด้าน ที่ไทยต้องเร่งสร้างเพื่อใช้ในการต้านทาน ASF คือจุดแข็งด้านความร่วมมือ จุดแข็งด้านการสื่อสาร จุดแข็งด้านการป้องกันโรค ไม่ว่าโรคนี้จะเข้าไทยหรือไม่ ขอให้เชื่อว่า เราได้ทำกันเต็มที่แล้ว ขอให้เราอย่าโทษกันเอง ไม่ว่าฟาร์มไหนจะเกิดโรคก่อนหรือเกิดหลัง เร่งประสานความร่วมมือ และ “ก้าวผ่านวิกฤตินี้ ไปด้วยกันให้ได้”
ขอขอบคุณ : น.สพ.อดิศักดิ์ สมอ่อน CPF Swine Veterinary Service