ข่าว (News) สุกร (Pig)

1 ปี “หมูเถื่อน” ไล่ชก “หมูไทย” ภาครัฐต้องใส่ใจ อย่าให้น็อค

จากวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่กรมปศุสัตวออกมารับความจริงอย่างเป็นทางการว่าพบการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยและในรอบ 100 ปี ที่โรคนี้อุบัติขึ้นในโลก ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านไทย อาทิ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมถึง จีน ล่วงหน้าเจอปัญหานี้ไปก่อนหน้าไทยตั้งแต่ปี 2562 ถึงวันนี้โรคระบาดยังคงอยู่ประปราย แต่ก็ควบคุมได้รวดเร็วจากประสบการณ์การป้องกันโรคที่ได้เรียนรู้ตลอดเวลา ช่วยลดความเสี่ยงและการสูญเสียให้กับเกษตรกร

โรค ASF ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยลดลงจาก 189,152 ราย ในปี 2564 เหลือ 149,575 ราย ในปี 2565 ในจำนวนนี้เป็นรายย่อยและรายเล็กได้รับผลกระทบมากที่สุด และในช่วงเวลาเดียวกันทำให้แม่หมูและหมุขุนหายไปจากระบบจาก 19 ล้านตัว เหลือ 13 ล้านตัว ผลผลิตในประเทศขาดแคลน ราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เช่น ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มสูงกว่า 100 บาท/กิโลกรัม ส่งผลให้ราคาเนื้อแดงปรับขึ้นไปมากกว่า 200 บาท/กิโลกรัม ราคาชิ้นส่วนอื่นขยับตามกันหมด เปิดช่องให้พ่อค้าสมองใสฉวยโอกาสเปิดตัว “หมูเถี่อน” จากประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยมากแต่ไม่รับรองคุณภาพความปลอดภัยจาก สารเร่งเนื้อแดง เชื้อรา สารปนเปื้อน และสารฟอร์มาลิน นำมาหากำไรส่วนต่างของราคาในประเทศ โดยไม่สนใจคุณภาพชีวิตของคนไทยจะตกต่ำลง

1 ปี ที่ผ่านมา หมูเถื่อนรุกไล่หมูไทย ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม ด้านเศรษฐกิจ “หมูเถื่อน” กดราคา “หมูไทย” จากการขายในราคาต่ำเพียง 135-145 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรขายหมูที่เหลืออยู่หรือผลผลิตที่ลงเลี้ยงใหม่ไม่ได้ตามปกติ ต้องชะลอการจับออกไปกลายเป็นต้นทุนเพิ่มแต่ขายหมูไม่ได้ราคา ด้านสังคม ผู้บริโภคแยกไม่ออกว่าหมูเถื่อนกับหมูไทย ต่างกันตรงไหน? เพราะขายผสมปนเปกันบนเขียงหมูและตามร้านขายเนื้อ รวมถึงประกาศขายผ่านออนไลน์ เอาใจคนไทยที่นิยมทั้งของถูกแต่ไม่สนใจความเสี่ยงจากสารก่อมะเร็งและสารปนเปื้อนอื่นๆ

ช่วงต้นเห็นชัดว่า “ภาครัฐ” ปราบหมูเถื่อนแบบขอไปที สถิติมันฟ้องให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2565 กรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ สนธิกำลังกันจับกุมหมูเถื่อนแบบสุดๆ 5 ครั้ง ได้ของกลาง 146 ตัน แต่หลังการโยกย้ายข้าราชการประจำปีผ่านไป ชุดใหม่เข้าปฏิบัติการการจับกุมขบวนการหมูผิดกฎหมายเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 นับได้ 28 ครั้ง ได้ของกลาง 1,348 ตัน (ทำให้เห็นปัญหาชัดเจน)

อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบ “ม้าตีนปลาย” ของภาครัฐ เป็นการพักยกให้ “น้ำ” หมูไทย เพราะทำให้หมูเถื่อนที่เคยเกลื่อนกลาด ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เปลี่ยนทางหนีทีไล่ใหม่ จากท่าเรือไทยไปท่าเรือประเทศเพื่อนบ้าน แล้ววกเข้าไทยตามตะเข็บชายแดนเป็นกองทัพมดแทน ห้องเย็นที่เคยรับฝากหมูผิดกฎหมาย ไม่กล้ารับฝาก “ของร้อน” ที่ไม่มีเอกสารรับรองอีกต่อไป ส่วนข้าราชการก็โดน “ล้างบาง” ส่งข้าราชการมือปราบ “ตงฉิน” ไปกวาดล้าง โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ ที่ต้องรับบทหนักป้องกันทั้งหมูเถื่อนและโรค ASF ไม่ให้กลับมาซ้ำรอยเดิม

บนความทุกข์ของเกษตกรยังมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นบ้าง โดยกรมปศุสัตว์ประกาศนโยบายที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทยอย่างยั่งยืน  คือ 1.นโยบาย Zero ASF 2.นโยบายยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกร นำระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity System) มาใช้ป้องกันโรคเข้มงวด ซึ่งเป็นภาคบังคับกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 1.6 แสนราย ทั่วประเทศ ผู้เลี้ยงที่ไม่มีใบอนุญาตโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท และผู้เลี้ยงที่ไม่มีใบรับรองมาตรฐานปรับสูงสุด 5 แสนบาท และ 3.นโยบาย “จับให้เจ๊ง” แปลว่าจับหนักให้ย่อยยับหมดตัว เหล่านี้ก็เพื่อพัฒนามาตรฐานการผลิตสุกรตั้งแต่ระดับฟาร์ม สร้างความมั่นใจความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถป้องกันและควบคุมโรคระบาดสำคัญในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์สุกรของประเทศไทย

ทั้งนี้ ปี 2566 การฟื้นฟูผลผลิตหมูไทยจะสำเร็จหรือไม่ ภาครัฐต้องพิจารณาปัจจัยสนับสนุนให้รอบด้าน โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ ยังกฎระเบียบควบคุมหลายด้าน ทั้งภาษีและโควต้านำเข้า หมูเถื่อน และโรคระบาด ASF ทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและในไทยยังไม่มีหลักประกันว่าเป็นศูนย์ เพื่อฟิตร่างกายของผู้เลี้ยงหมูไทยให้แข็งแกร่งพร้อม “น็อคเอ้าท์” คู่ต่อสู้ในทุกสถานการณ์

ณมุรธา ราชภักดี นักวิชาการอิสระ ด้านการเกษตร

https://www.tiktok.com/@pasusartchannel/video/7173324782350519578?is_copy_url=1&is_from_webapp=v1&lang=th-TH

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com