ฟาร์มที่มีการขยายฝูงหรือฟาร์มสุกรขนาดใหญ่มักจะพบปัญหาด้านการจัดการมากขึ้น จริงอยู่ว่าปัญหาในระบบสืบพันธุ์สุกรบางส่วนมาจากเรื่องของโรค แต่ส่วนใหญ่การที่ผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมายมักจะพบว่าเกิดจากความผิดพลาดด้านการจัดการมากกว่า
ข้อผิดพลาดที่พบบ่อย ๆ 10 ประการ ได้แก่
1.การเคลื่อนย้ายสุกรในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม
การเคลื่อนย้ายสุกรหลังทำการผสม เสี่ยงต่อการรบกวนการฝังตัวของตัวอ่อนในช่วงต้นของระยะตั้งท้อง ในข้อนี้แนะนำให้ย้ายสุกรในช่วง 4-5 วันแรกหลังผสม หรือย้ายเมื่อ 30 วันหลังผสมทีเดียว
2.ไม่ติดตามตรวจเช็คสัดที่ 21 วัน
ละเลยที่จะตรวจเช็คการกลับสัดเป็นงานประจำ โดยในฟาร์มขนาดใหญ่ อาจพบการกลับสัดของสุกรได้ทุกวัน ถ้าเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ที่คนงานขาดประสบการณ์ ให้ตรวจสอบละเอียดในกลุ่มช่วง 18-24 วัน จะช่วยปรับปรุงอัตราการตรวจพบการกลับสัด ซึ่งช่วยให้ตรวจสอบการตั้งท้องได้ดีขึ้น และผิดพลาดน้อยลง
การปฏิบัติเพื่อช่วยลดจำนวนวันสุกรท้องว่างและสามารถหมุนรอบการใช้งานโรงเรือน ให้ตรวจสอบการเป็นสัดดังนี้
1. ปฏิบัติให้เป็นช่วงเวลาที่แน่นอนแต่ละวัน
2. ใช้ระบบบัตรสีแยกประเภทสุกรตามวันที่คาดว่าจะกลับสัด 21-42 วัน โดยใช้ระบบสี 3 สี ซึ่งสามารถตรวจสอบเป็นกลุ่มสีเดียวกัน
3. ใช้คนตรวจ 2 คน เพื่อช่วยตรวจสอบความถูกต้องซึ่งกันและกัน
4. กำหนดสัญลักษณ์และพัฒนาระบบที่บ่งบอกถึงสุกรตัวที่เริ่มเป็นสัด (อวัยวะเพศบวมแดงกว่าเมื่อวาน) ในการตรวจวันต่อวัน
5. ใช้พ่อพันธุ์ช่วยตรวจ โดยให้เดินด้านหน้าแม่พันธุ์
3.การกระตุ้นสัดไม่เพียงพอของพ่อพันธุ์ในแต่ละวันหลังหย่านมถึงผสมครั้งแรก
ในฟาร์มช่วง 7 วันหลังหย่านมถึงผสมครั้งแรก คนงานในฟาร์มมักจะไม่คิดว่าสุกรจะเป็นสัด จนกระทั่งวันที่ 4 หรือ 5 จึงค่อยเริ่มตรวจสอบการเป็นสัด ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง
ควรเริ่มใช้พ่อพันธุ์กระตุ้นการเป็นสัด ตั้งแต่หลังหย่านมอย่างต่อเนื่องทุกวัน ดังนั้นต้องจัดโรงเรือนให้มีสภาพเหมาะในการกระตุ้น และสุกรได้รับอาหารอย่างถูกต้องในช่วงหย่านมถึงผสมครั้งแรก การกระตุ้นแม่สุกรด้วยพ่อสุกรอย่างเหมาะสม จะช่วยแก้ไขอัตราเข้าคลอดและขนาดครอกเกิดที่ต่ำได้ โดยการให้พ่อสุกรเดินด้านหน้าของแม่สุกรหย่านมทุกวัน
4.การกระตุ้นพัฒนาการทางเพศของสุกรสาวด้วยพ่อพันธุ์อย่างไม่เหมาะสม
ให้กระตุ้นสุกรสาวทันทีที่รับเข้าโดย
1.ใช้พ่อพันธุ์เข้าไปในคอก
2.ใช้พ่อพันธุ์ตัดท่อน้ำเชื้อ (Vasectomized boar)
3.ใช้พ่อพันธุ์เดินผ่านช่องทางที่ทำไว้
5.การให้อาหารสุกรทดแทนไม่เพียงพอ
สุกรสาวให้อาหารสุกรรุ่นพันธุ์ หรือสุกรพันธุ์เลี้ยงลูก วันละ 2.2 – 2.5 กิโลกรัมต่อตัว แล้วจึงทำการกระตุ้นอาหารอีกครั้ง 7-14 วันก่อนผสม
6.ดูแลสุกรพ่อพันธุ์ด้วยความรุนแรง
ในฟาร์มที่ให้ผลผลิตที่ดี อัตราเข้าคลอดสูงกว่า 90 % ขนาดครอกเกิดมากกว่า 12 ตัว ผลสำเร็จเกิดจากความรู้สึกมีส่วนร่วมหรือการดูแลสุกรอย่านุ่มนวล พ่อพันธุ์ที่ได้รับการดูแลที่ดีจะรับการสัมผัสลูบคลำจากคนที่เข้าไปหา แต่ถ้าพ่อพันธุ์วิ่งหนีเมื่อคนเข้าไปหาแสดงว่าได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้อง การดูแลที่นุ่มนวลโดยสรุปดังนี้
1. มีทัศนคติที่ดีต่อพ่อพันธุ์ มิตรภาพระหว่างคนกับสัตว์
2. ไม่ตีสุกร
3. ใช้ประตู รั้ว มากกว่าการไล่
4. ออกแบบโรงเรือนให้เคลื่อนย้ายสุกรตามต้องการ บ่อยครั้งที่มีประตูไม่เพียงพอต่อการเคลื่อนย้ายสุกร
สวมใส่ชุดสีแตกต่างกันในการปฏิบัติที่เกิดความเจ็บปวด เช่น ตัดเขี้ยว ตัดแต่งกีบ การให้วัคซีน เป็นต้น
7.คุณภาพและเวลาในการผสมไม่ดี
สำหรับการผสมเทียม ต้องให้แม่พันธุ์สัมผัสกับพ่อพันธุ์ที่เพียงพอ มีสถานที่ให้พ่อพันธุ์อยู่ด้านหน้าคอกที่ใช้ผสมเทียม ใช้ถุงทรายหรือบุคคลนั่งทับหลังแม่สุกรและทำการกระตุ้นลูบคลำให้เหมือนกับการผสมธรรมชาติ
การกระตุ้นสัดสุกรแม่พันธุ์
อย่ารอให้ถึงวันที่ 4 หลังหย่านมค่อยเริ่มตรวจสัด หรือผสมสุกรบางส่วนเพียงครั้งเดียว ให้ตรวจเช็คการเป็นสัดมากกว่าหนึ่งครั้งต่อวัน
คนผสมต้องมีความเข้าใจว่าสุกรแต่ละตัวมีช่วงระยะการเป็นสัดไม่เท่ากัน ความแตกต่างนี้รวมถึงช่วงให้นม จำนวนท้องที่คลอด (Parity) สภาพร่างกาย (Body condition) ให้ปฏิบัติดังนี้
– สุกรที่เป็นสัดหลังหย่านมน้อยกว่า หรือเทียบเท่า 5 วัน ให้ผสม m./a.m./a.m. (24 ชั่วโมง)
– สุกรที่เป็นสัด วันที่ 6 หรือ 7 หลังหย่านมให้ผสม m./a.m./p.m. (24 ชั่วโมง 2 ครั้ง และ 12 ชั่วโมง)
– สุกรที่เป็นสัด วันที่ 8 ขึ้นไป สุกรสาวและสุกรกลับสัด (Repeat sow) ให้ผสม m./p.m./a.m. (12 ชั่วโมง)
8.เข้าใจผิดเรื่องการให้อาหาร
จัดระดับการกินอาหารตามเป้าหมาย ดังนี้
– กินอาหารมากที่สุดช่วงหย่านมถึงผสม
– กินอาหารมากกว่าระดับยังชีพ (Maintenance) ช่วงผสมถึงอุ้มท้อง 30 วัน
– กินอาหารตามสภาพร่างกาย อย่าให้สุกรอ้วนเกินไปตลอดช่วงกลางของการตั้งท้อง
– เพิ่มอาหารในช่วง 3 สัปดาห์ก่อนคลอด เพื่อขยายกระเพาะอาหาร เพิ่มความแข็งแรงในการตั้งท้อง และเพิ่มอัตราการรอดของลูกสุกร
– ให้ลดอาหารแม่สุกรก่อนคลอด 3 วัน โดยลดวันละ 1 กิโลกรัมและให้แม่สุกรได้รับอาหารอย่างน้อย 2 กิโลกรัม/วันเพื่อป้องกันเต้านมอักเสบ และลดการตายคลอด (Stillbirths)
– พยายามเพิ่มระดับการกินอาหารมากสุดขณะให้นมลูก เพื่อให้แม่สุกรกลับมาผสมและให้ลูกครอกต่อไป
9.ความล้มเหลวของการใช้ข้อมูล
วิเคราะห์ข้อมูลรายสัปดาห์ เพื่อติดตามปัญหา มุ่งความสนใจไปที่การลดระยะเวลาที่สุกรท้องว่าง (non-productive sow days)
10.การผสม / การคลอดไม่ได้ตามเป้าหมาย
แก้ไขประสิทธิภาพการผสมที่ไม่ดี โดยผสมมากขึ้น ปรับการผสมตามฤดูกาลหรือตามประวัติของฟาร์ม เพิ่มสุกรสาวเข้าฝูงให้เพียงพอตามความจำเป็น
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่นๆด้านการจัดการ ซึ่งมักจะพบอยู่เสมอ แต่มักจะละเลยโดยคิดว่าไม่เป็นปัญหา เช่น การเคลื่อนย้ายแม่พันธุ์โดยพนักงานใหม่ ช่วงระยะเวลาการย้ายหรือสภาพอากาศภายในโรงเรือนผสมอุ้มท้อง ซึ่งมีผลต่ออัตราการผสมติดและจำนวนลูกแรกคลอด
ขอขอบคุณ : ฝ่ายวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการวิชาการ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)