วันก่อนเห็นสื่อหนึ่งนำเรื่องราคาไข่ไก่ของรัฐบาลแต่ละยุคมาเปรียบเทียบกัน ทั้งๆที่มีการรณรงค์ให้เลิกนำ “ไข่ไก่” มาเป็นตัวชี้วัดดัชนีค่าครองชีพ เนื่องจากส่งผลลบให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องชอกช้ำเพราะโดนกดราคาให้ต่ำเพื่อเป็นผลงานของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัยตลอดมา ในเบื้องต้นจึงอยากขอร้องให้ยุติการเปรียบเทียบในลักษณะนี้ให้หมดไปจากสังคมไทยเสียที
ราคาไข่ไก่มีขึ้นมีลง ตามแต่ละช่วงเวลาที่มีปัจจัยเข้ามากระทบกับปริมาณไข่ไก่ รวมถึงอัตราความต้องการบริโภคในแต่ละวาระ แต่ละเทศกาล หรือเรียกว่า “อุปสงค์-อุปทาน” เป็นตัวควบคุมราคา ช่วงไหนไข่น้อย ความต้องการบริโภคมาก ราคาก็สูงขึ้น พอไข่ล้นตลาด คนบริโภคน้อย ราคาก็ตกต่ำ เป็นต้น ไม่ต่างจากมะนาวหน้าแล้ง ที่นอกจากจะไม่มีน้ำแล้ว ยังมีราคาแพงแทบซื้อไม่ลง
แต่น่าแปลกตรงที่พอเป็นมะนาวผู้คนกลับยอมรับได้ … แล้วทำไมพอเป็น “ไข่ไก่” จึงเกิดปัญหาและรัฐก็มักจะเข้ามาควบคุมราคาทันที ซึ่งยิ่งแย่มากขึ้นถ้ารัฐไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตไข่ไก่ได้
ทุกวันนี้มีปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์จากสงครามยูเครน เป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตไข่ไก่สูงขึ้นอย่างมาก ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มขยับมาอยู่ที่ฟองละ 3.50 บาท แต่ถ้าเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว (2545) ราคาอยู่ที่ประมาณฟองละ 2.20 บาท เรียกได้ว่า 20 ปีขยับขึ้นมาเพียงฟองละ 1 บาทกว่า ในขณะที่น้ำมันพืช เมื่อ 20 ปีที่แล้วราคาอยู่ที่ขวดละ 25 บาท วันนี้ขายกันที่ราคาขวดละเกือบ 70 บาท เพิ่มขึ้น 45 บาท รวมถึงราคาน้ำมันเบนซินเมื่อ 20 ปีที่แล้วประมาณลิตรละ 15 บาท วันนี้พุ่งไปที่เกือบ 40 บาท/ลิตร สูงขึ้นถึง 25 บาท
เห็นความแตกต่างของการขึ้นราคาของสินค้าจำเป็นต่างๆ ในรอบ 20 ปีแล้วก็สะท้อนใจ และเห็นใจคนเลี้ยงไก่ไข่อย่างมาก มันคือสินค้าเกษตรที่ควรสนับสนุนอาชีพเกษตรกรให้อยู่รอดปลอดภัย ทำแล้วพอมีกำไรเลี้ยงตัวและครอบครัว ให้เขามีแรงทำงานผลิตอาหารเพื่อผู้บริโภคต่อไป กลับถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม
ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันพืช และไข่ไก่ ต่างก็เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ผู้คนกลับยอมรับการขึ้นราคาของค่าไฟฟ้าและน้ำมันได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ขณะที่กลุ่มคนเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งเป็นเกษตรกรตัวเล็กๆ มีปากเสียงน้อยที่สุดมักจะได้รับการคัดค้านเสมอเมื่อมีภาวะไข่ขยับราคาขึ้น ช่างเป็นความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมเสียจริง
นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่เล่าว่า ราคาไข่ไก่ที่ปรับตัวขึ้นในขณะนี้มาจากปัจจัยราคาอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ต้นทุนค่าพลังงานก็ส่งผลกระทบต่อการขนส่งไข่ไก่ที่ต้องมีต้นทุนสูงขึ้นอีก แม้ต้นทุนการเลี้ยงจะสูงขึ้นขนาดนี้ แต่การขายไข่ไก่ของเกษตรกรกลับไม่ได้เป็นอิสระตามต้นทุนที่ปรับขึ้น เพราะหน่วยงานภาครัฐจะขอความร่วมมือให้เกษตรกรตรึงราคาขายเอาไว้มาโดยตลอด ทั้งๆที่ควรจะปล่อยให้ราคาขายล้อตามต้นทุนที่เพิ่ม หรือปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน
ไข่ที่ขายออกจากหน้าฟาร์มเกษตรกรเป็นไข่คละทุกขนาดที่ขายได้ในราคาเดียวและกว่าไข่ไก่จะไปถึงมือผู้บริโภค ต้องผ่านกลไกตลาด กระบวนการ และคนกลางหลายขั้นตอนตามซัพพลายเชนของการค้าขายไข่ ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ผู้รวบรวมไข่ (ล้งไข่) ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ผู้ค้าปลีก จนถึงร้านขายของชำและตลาดสดในหมู่บ้านซึ่งแต่ละขั้นมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ มีผู้เกี่ยวข้องที่ต้องได้รับส่วนต่างในการทำงานเช่นกัน
ถึงบรรทัดนี้ คงต้องขอความเห็นใจจากทั้งภาครัฐและผู้บริโภค โปรดเข้าใจกลไกราคาของไข่ไก่ และปล่อยให้ราคาขายสอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรอยู่รอด และผู้บริโภคอยู่ได้ … ที่สำคัญ ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา “ไข่ไก่” ไม่ได้แพงขึ้นมากกว่าสินค้าชนิดอื่นๆเลย
โดย ทรงพล สุภาพวุฒิ