ปัจจุบันมีข้อถกเถียงกันเป็นอย่างมาก กรณี “กากมันหมักจุลินทรีย์” ปศุศาสตร์ นิวส์ จึงนำประเด็นดังกล่าวที่หลายคนให้ความสนใจและร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากมาเสนอ เพื่อให้คลายความสงสัยและเป็นเรื่องดีที่เกษตรกรจะได้รับข้อมูลสองด้าน
จากการพูดคุยกับเกษตรกรท่านหนึ่งที่ติดตามเรื่องนี้มานาน และมีประสบการณ์เคยทดลองใช้เอง โดยมีการพูดถึงเรื่องนี้หลายครั้ง จึงมีการสรุปประเด็นที่สงสัยเอาไว้ เผื่อว่าผู้คิดค้นหรือผู้คร่ำหวอดในด้านนี้จะมีคำตอบที่กระจ่าง
1. ประเด็นเรื่อง “โปรตีน” ที่สัตว์กระเพาะเดี่ยวเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่? เรื่องนี้ควรถูกพูดถึงเป็นอันดับแรก ซึ่งในสูตรที่มีการกล่าวถึงและเผยแพร่นั้นมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่เน้นยีสต์เป็นหลัก กับกลุ่มเน้นจุลินทรีย์ โดยไม่ระบุว่าใช้จุลินทรีย์ชนิดใด หากจะเอาโปรตีนไปใช้ได้จริงๆ จุลินทรีย์ดังกล่าวไม่มีอะไรดีกว่ายีสต์ เพราะโครงสร้างของยีสต์คล้ายกับเซลล์สัตว์ ในขณะที่โปรตีนจากแบคทีเรียสัตว์กระเพาะเดี่ยวนำไปใช้ประโยชน์แทบไม่ได้เลย เกษตรกรส่วนมากจะมองเพียงว่ามีโปรตีนเท่าไหร่ แต่ไม่รู้ว่าโปรตีนนั้นๆ นำไปใช้ได้จริงหรือไม่ บางครั้งในกระบวนการหมักเองก็มีการเติมยูเรียหรือปุ๋ยเกลือเข้าไป จึงมีความเสี่ยงที่จะมีไนโตรเจนตกค้างอีกด้วย ถ้าหากมีไนโตรเจนตกค้างแล้วจะเป็นพิษต่อสุกรแน่นอน
2. ประเด็นเรื่อง “กระบวนการหมักจุลินทรีย์” นั้นดีมากพอให้จุลินทรีย์เติบโตได้ดีหรือไม่? ในกระบวนหมักนั้น หากต้องการให้ยีสต์เจริญเติบโตดีต้องมีการเติมอากาศ อาหารของยีสต์เองนั้นคือน้ำตาลไม่ใช่แป้ง ดังนั้นยีสต์อาจเจริญได้จากการเติมกากน้ำตาลในกระบวนการหมัก แต่การเติมกากน้ำตาลในกระบวนการหมักก็อาจส่งผลให้ออกซิเจนในกองหมักลดลงด้วย การที่เติมกากน้ำตาลในกระบวนการหมักยีสต์แล้วบอกว่าเพื่อให้ยีสต์ใช้เป็นอาหารอาจย้อนแย้งกับกระบวนการผลิตเอง แม้จะเปิดพลิกกองหมักก็ไม่ใช่วิธีที่จะพูดได้ว่าหมักแบบมีการเติมอากาศ ส่วนในกระบวนการหมักที่ผู้ผลิตเน้นว่าไม่ได้ใช้ยีสต์ในการผลิต แปลว่าโปรตีนดังกล่าวอาจเกิดจากการหมักแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส ซึ่งได้กล่าวแล้วในข้อ 1 ถึงจะตรวจโปรตีนขึ้นก็ตาม แต่สุกรนำไปใช้ไม่ได้ และอาจเกิดโทษด้วย
3. ประเด็นเรื่อง “การย่อยสลายวัตถุดิบเริ่มต้น” หากกระบวนการหมักเป็นไปได้ดี วัตถุดิบจะสูญเสียน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือไม่? เราลองถึงจุลินทรีย์ที่เติมในบ่อเกรอะตอนส้วมเต็มที่วางขายทั่วไป นั่นเป็นจุลินทรีย์กลุ่มย่อยสลาย เมื่อจุลินทรีย์ขึ้นแล้ววัตถุดิบเริ่มต้นจะถูกย่อยสลายส้วมจึงไม่เต็ม การหมักจุลินทรีย์ก็เช่นกัน ถ้าหากจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดีจริง น้ำหนักของวัตถุดิบเริ่มต้นก็ย่อมหายไปด้วย ต้นทุนการผลิตจะมากขึ้น สุดท้ายแม้ว่าจะหมักได้เท่าไรก็ตาม เราทราบความจริงอย่างหนึ่งว่ายีสต์ตระกูล Saccharomyces ส่วนมากนั้นมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบประมาณ 35% ที่น้ำหนักแห้ง ซึ่งกระบวนการหมักยีสต์ดังกล่าวไม่มีทางหมักจนเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นเปลี่ยนเป็นยีสต์ทั้งหมด และอาจความชื้นสูงมาก ราวๆ 80% อีกด้วย แล้วต้นทุนของวัตถุดิบหมักดังกล่าวจะเป็นเท่าใด
4.ประเด็นเรื่อง “ความชื้นกับราคาของกากมันหมักที่จำหน่ายกันทั่วไป” ราคาโดยทั่วไปของมันหมักยีสต์ดังกล่าวเท่าที่สังเกตุจะอยู่ราวๆ กิโลกรัมละ 3 บาท และดูเหมือนว่ามีความชื้นสูง ถ้าหากความชื้นสูงถึง 80% แล้ว ราคาที่น้ำหนักแห้งจะสูงถึง 15 บาทต่อกิโลกรัม พอกันกับกากถั่วเหลืองซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนมาตรฐาน แต่กากถั่วเหลืองมีทั้งปริมาณและความสมดุลของกรดอะมิโนสูงกว่ามาก ซึ่งในกรณีนี้หากเกษตรกรให้กินอาหารราคาจริงกิโลกรัมละ 15 บาท แต่ได้เนื้ออาหารจริง 2 ขีด เกรงว่าจะไม่เป็นการประหยัดต้นทุนจริง อีกทั้งถ้าอัตราการผสมเป็น 1:1 แปลว่าอาหารเม็ดผสมอาหารลดต้นทุนดังกล่าวน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ได้เนื้ออาหารจริงประมาณ 7 ขีด หรือพูดอย่างง่ายว่ามีอาหารที่คำนวณมาแล้ว 70% สุกรอาจโตได้ด้วยอาหารที่คำนวณมาแล้วไม่ใช่อาหารลดต้นทุนตัวนั้น เช่นนี้อาจมีผลคล้ายการลดปริมาณอาหารลง หมูก็อาจจะโตช้าลงแล้วจับได้ แบบที่ไม่ต้องกินอาหารดังกล่าวก็เป็นได้ ในกระบวนการหมุนเงินของเกษตรกรเองโดยมากก็คิดว่าเอาของถูกให้กินก่อนแล้วสบายกระเป๋า แต่ถ้าราคาจริงของอาหารลดต้นทุนดังกล่าวเป็น 15 บาทจริง ก็น่าจะยากที่เป็นการลดต้นทุน
5. ประเด็นเรื่อง “การทดลองแบบเป็นรูปธรรม” ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตุว่าการทดลองที่เป็นมาตรฐานจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้แล้วมีผลชัดเจนออกมาให้เกษตรกรได้ทราบ ข้อสังเกตุนี้ไม่มี ผู้ขายส่วนมากเน้นการขายโดยการบอกว่า เป็นการทดลองตามผลการใช้จริงจากเกษตรกร ซึ่งดูเหมือนว่าการสรุปผลนั้นก็ไม่ได้เป็นแบบแผนตามที่เกษตรกรควรทราบ เมื่อมีผู้ซักถามก็จะโดนกลุ่มผู้ค้าโจมตีต่างๆ เช่นเป็นนักวิชาการในกระดาษบ้าง หรือหนักเข้าก็พยายามที่จะชักนำเกษตรกรว่าผู้ที่ตั้งคำถามรับเงินจากบริษัทอาหารเม็ดเพื่อโจมตีอาหารลดต้นทุน ทั้งๆ ที่คนพูดเองอาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ เลย ในขณะที่คนขายได้รับผลประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญกลุ่มผู้ค้าบางคนยังมีคำพูดค่อนแคะผู้สงสัยและผู้ตั้งข้อสังเกตุต่างๆ นานา แม้กระทั่งการแนะนำเกษตรกรให้ทดลองเก็บ FCG หรือต้นทุนอาหารต่อน้ำหนักสุกรที่เพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม ก็มีความพยายามบิดเบือนความเข้าใจไปในทางอื่น โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีพฤติกรรมเช่นนี้หลายครั้ง สำหรับประเด็นเรื่องให้ไปถามคนที่ใช้จริงเองก็ยังไม่ใช่คำตอบที่ดี เพราะพบว่าเริ่มมีคนที่ใช้แล้วไม่ประสบผลสำเร็จออกมาพูดมากขึ้นเรื่อยๆ