กรณีข่าวโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่เผยแพร่ออกมาจากหลายๆ สำนัก สามารถสรุปเป็นประเด็นปัญหาหลักที่พบในประเทศที่ควบคุมโรค ASF ไม่อยู่ ทำให้มีการระบาดต่อเนื่องเกือบทั้งประเทศ ได้แก่ประเทศจีนและเวียดนาม เพื่อเป็นกรณีศึกษาและใช้เป็นแนวทางในการตั้งรับสำหรับประเทศที่ยังไม่เกิดโรค แต่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้แก่ ลาว พม่า และไทย รวมถึงประเทศที่เกิดโรคอย่างกัมพูชาก็ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากการระบาดของโรคยังพอที่จะควบคุมได้
>>อ่าน ASF เพิ่มที่นี่<<
5 ปัญหาหลักที่พบในประเทศที่ไม่สามารถควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ได้
1. ไม่รู้ว่าหมูเป็นโรค ในช่วงแรกๆ ที่เกิดโรค ASF ระบาด เกษตรกรหรือคนเลี้ยงหมูไม่รู้ว่า หมูที่ป่วยนั้นเกิดจากโรค ASF เนื่องจากการสื่อสารให้ความรู้ไม่ได้ลงไปถึงผู้เลี้ยงรายย่อยได้ทั่วถึงทุกคน (ในช่วงแรกแต่พอเกิดโรคในพื้นที่แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขระบบป้องกันโรคของฟาร์มไม่ทัน) และอาจมีบางกรณีที่หมูติดเชื้อมีระยะฟักตัว 3-8 วัน ถึงจะแสดงอาการให้เห็น ช่องว่างนี้อาจทำให้เกิดการจัดการผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจได้ เช่น ส่งหมูที่ติดเชื้อแล้วขายให้ฟาร์มอื่น หรือส่งเข้าโรงชำแหละ เป็นต้น
ข้อจำกัดด้านการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่ต้องใช้ความชำนาญและเทคนิควิธีการตรวจที่ถูกต้อง ถ้าให้ผลตรวจที่ไม่ตรงกับสถานะจริงๆ ก็อาจสร้างปัญหาจากการเคลื่อนย้ายหมูที่เป็นโรคแต่ยังไม่แสดงอาการออกนอกฟาร์มได้ ดังกรณีการนำหมูขุน 2,000 กว่าตัว เข้าโรงชำแหละที่มณฑลเหอหนานของจีน (เคสที่ 2 ของจีน) ทำให้โรคแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในเคสต่อๆ มา และล่าสุดก็มีประเด็นการนำหมูติดเชื้อเข้าไปที่โรงชำแหละซ่างสุ่ยของฮ่องกง ที่ทำให้จีนต้องทำลายหมูถึง 6,000 ตัว เหตุเพราะที่ฟาร์มไม่รู้ว่าหมูติดเชื้อก่อนส่ง หรืออาจจะติดระหว่างขนส่งก็ได้ ถือเป็นตัวอย่างช่องว่างที่ไม่สามารถใช้การดูอาการป่วยและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการในการประเมินได้ 100%
รัฐบาลควรออกข่าว ทำสื่อประชาสัมพันธ์ ด้านโรค ASF และการป้องให้เข้าถึงฟาร์มและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ 100%
2. รู้ว่าหมูเป็นโรคแล้วไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่แจ้งเคสที่สงสัยให้รัฐเข้าไปตรวจสอบ กรณีพบหมูป่วยที่สงสัยเป็นโรค ASF อาจเพราะกลัวหมูถูกทำลายทิ้งทั้งฟาร์ม หรือลดความเสียหายจากการถูกทำลาย อาจเนื่องมาจากเงินชดเชยได้น้อยกว่าราคาที่ขายตามตลาด (จ่ายประมาณ 60-70% ตามราคา) มีบางเคสที่เกษตรกรรีบเทขายหมู เมื่อรู้ว่ามีสุกรสังสัยต่อโรค กรณีนี้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงในประเทศจีนและเวียดนาม จนยากที่จะควบคุม
3. แจ้งแล้วไม่มีคนมาจัดการ เนื่องจากการระบาดรวดเร็วและเป็นวงกว้าง กำลังคนและงบประมาณไม่เพียงพอ ข้อนี้เป็นปัญหาหลักในจีนและเวียดนาม ช่วงที่มีการระบาดหนักๆ เป็นพร้อมกันหลายจุด เจ้าหน้าที่ดูแลจัดการโรค ASF ทำได้ไม่ทั่วถึง หรืองบประมาณในการจัดการไม่เพียงพอ (เวียดนาม) อาจเกิดกรณีที่ทำให้เจ้าของฟาร์มนำสุกรที่ตายจากโรคออกมาทิ้งตามที่สาธารณะ ทั้งแม่น้ำลำคลอง กองขยะ หรือข้างถนน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้โรคแพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้น
4. จัดการหมูป่วย/ตาย แบบผิดวิธี (เช่น แอบขาย หรือทิ้งหมูตายลงแม่น้ำ) เกษตรกรนำหมูตายออกไปขายให้ลูกค้าที่มารับซื้อ หรือมีการขนย้ายออกไปทิ้งนอกฟาร์ม ตามแม่น้ำลำคลอง กองขยะสาธารณะ หรืออาจใช้วิธีฝังในระดับความลึกและความหนาของดินกลบไม่ได้มาตรฐาน (ต้องกลบดินสูงจากซากอย่างน้อย 50 เซนติเมตร) เป็นต้น และส่วนใหญ่การเกิดโรคก็ยังเป็นในระบบการเลี้ยงแบบหลังบ้าน ซึ่งมักจะมีพื้นที่จำกัดไม่สามารถฝังทำลายหมูที่ตายเยอะๆ ได้ หรือบางทีจงใจปกปิดเพื่อจะได้รีบขายหมูที่ยังไม่แสดงอาการออกไปให้เร็วที่สุด ให้ไปตายเอาดาบหน้า ดีกว่ามาตายในฟาร์มและได้เงินชดเชยแค่ครึ่งเดียว อย่างนี้ก็ยิ่งทำให้โรคแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วจนยากที่จะควบคุม
นอกจากนี้ การจัดการโรค ASF ของเอเชีย จะแตกต่างจากยุโรปและรัสเซียตรงจุดที่ไม่มี Stamping out หรือการทำลายหมูทั้งหมดในรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดที่เกิดโรค ซึ่งอาจเกิดจากกฎหมายไม่เข้มพอ เงินชดเชยไม่เพียงพอ พื้นที่ในการทำลาย/ฝังซากสุกรไม่เพียงพอ (เกิดในฟาร์มใหญ่และพื้นที่ที่มีการเลี้ยงหนาแน่น) จำนวนบุคคลากรและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานไม่เพียงพอ และการต่อต้านจากเกษตรกรผู้เลี้ยง รวมถึงจากผู้ประกอบการร้านค้า เช่นกรณีที่พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูของฮ่องกงต่อต้านการทำลายหมูติดเชื้อที่โรงชำแหละช่างสุ่ย 6,000 ตัว เมื่อวันที่ 10/5/62 และการห้ามปิดพักโรงชำแหละ สุดท้ายก็ทำให้เกิดโรคในหมูรับเข้ารอชำแหละอีกครั้ง ทำให้ต้องทำลายหมูอีก 4,700 ตัว (31/5/62) จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นถึงความซับซ้อนในการแก้ปัญหา สร้างความลำบากและอุปสรรคในการจัดการ จนนำไปสู่ความล้มเหลวในการควบคุมป้องกันโรค ASF ในที่สุด
5. ไม่มีระบบป้องกันโรคที่ได้มาตรฐาน โรคหมูอื่นๆ สามารถแก้ไขจัดการได้ จบที่ฟาร์ม แต่โรค ASF นอกจากฟาร์มจะต้องมีระบบการป้องกันควบคุมโรคที่ดีแล้ว (10 ข้อห้าม,+10 ข้อปฏิบัติ) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ ผู้ผลิตและจำหน่ายยาสัตว์ เป็นต้น ก็ต้องมีระบบป้องกันโรคที่ดีด้วย เพราะอาจจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อเข้าสู่ฟาร์มขนาดใหญ่ได้เป็นวงกว้าง
โรค ASF เป็นโรคที่การป้องกันและแก้ไขปัญหาต้องอาศัยทุกคนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจริงจัง ไม่ใช่เฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงหมูอย่างเดียว บุคคลทั่วไปก็ต้องมีส่วนด้วย เช่น ประชาชน/นักท่องเที่ยวไม่ทิ้งเศษอาหารไว้ในป่า เพราะอาจทำให้หมูป่ามากินแล้วติดเชื้อได้ หรือไม่ให้อาหารกับสัตว์ที่เดินไปมาตามถนน บริษัท ห้างร้าน สนามบิน ให้ความร่วมมือไม่ขายเศษอาหารให้ลูกค้าที่มารับซื้อไปเลี้ยงหมู เป็นต้น
โรคนี้เกิดมาเกือบ 100 ปี (เคนย่า 2463, OIE) แต่ทำไมมาหนักเอาตอนที่ระบาดเข้าจีน และเวียดนาม เราควรจะต้องรีบศึกษาทั้งข้อดีและข้อเสียให้รู้เท่าทัน และหาแนวทางป้องกันและตั้งรับให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
“ASF ไม่เพียงส่งผลกระทบแค่คนเลี้ยงหมูเท่านั้น ยังสามารถกระทบกับหลายๆ ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ถ้าทุกคนไม่ช่วยกัน เศรษฐกิจของประเทศก็อาจพังได้เช่นกัน”
ขอบคุณที่มา : CPF Swine Veterinary Service / ภารกิจพิชิต ASF – African swine fever