ข่าว (News) สุกร (Pig)

มาตรการป้องกันโรค ​ASF จากการนำเข้า-ส่งออกหมู – ปศุศาสตร์ นิวส์

มาตรการป้องกันโรค ​ASF จากการนำเข้า-ส่งออกหมู

การส่งออกหมู​ ​เนื้อหมู​ อาหารสัตว์​ และผลิตภัณฑ์​จากหมู​ และสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับฟาร์มไปประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นเรื่อง​สำคัญอีกอย่างที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อม​ เนื่องจากสถานการณ์​โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ที่กำลังระบาดในทวีปเอเชีย​ โดยเฉพาะจีน และเวียดนาม ส่งผลให้เนื้อหมูในภูมิภาคขาดแคลนอย่างหนัก​ และอาจจะยังคงสภาวะแบบนี้ไปอีกอย่างน้อย 2-5 ปี​ จนกว่าโรคจะสามารถควบคุมได้​ (ในอนาคตอาจมีเทคโนโลยีวิชาการใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้ เช่น​ วัคซีน​ป้องกันโรค)​

เมื่อหมูในภูมิภาค รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านขาดแคลน​ ประเทศไทยอาจได้อานิสงส์​ สามารถส่งออกหมูและสินค้าหมูไปยังประเทศ​เพื่อนบ้านได้​ แต่หลักการด้านการป้องกันโรคในกระบวนการส่งออกก็ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด​เช่นกัน​ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็อาจไม่รอดจากโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF)

การนำเข้าสินค้าสุกร

1.ไม่นำเข้าสุกร​ เนื้อสุกร​ น้ำเชื้อสุกร​ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF)

2.​ กรณีนำเข้าสุกรมีชีวิต​จากประเทศปลอดโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ก็ต้องมีผลตรวจรับรองปลอดโรคดังกล่าวจากต้นทาง โดยหน่วยงานราชการ​ และมีการกักโรคที่ปลายทาง​ 14​ วัน​ เพื่อตรวจยืนยันปลอดโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) โดยกรมปศุสัตว์​

3.​ ไม่นำเข้าวัตถุดิบ​อาหารสัตว์​ โดยเฉพาะเนื้อป่น​ เลือดป่น​ กระดูกป่น​ จากประเทศที่มีการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF)

4.​ กรณีนำเข้าวัตถุดิบ​อาหารสัตว์​จากประเทศที่ปลอดโรค​ ก็ต้องมีการตรวจ ASF รับรองโดยหน่วยงานราชการ​ ทั้งต้นทางและปลายทาง

5.​ การนำเข้าเวชภัณฑ์​ จะต้องมีการตรวจรับรอง​การไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อนระหว่าง​การผลิต

6.​ สินค้าสุกรที่นำเข้าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของกรมปศุสัตว์​อย่างเข้มงวด​ และมีระบบการตรวจสอบไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย​ โดยเฉพาะพื้นที่ตามด่านชายแดนต่างๆ

ในสถานการณ์​ที่มีการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ในประเทศต่างๆ​ การส่งออกสามารถปฏิบัติได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1.​ การส่งออกหมูมีชีวิต​ (หย่านม, รุ่นพันธุ์, ขุน)​

การป้องกันโรคผ่านทางการส่งออกสินค้าประเภทหมูมีชีวิต​ สามารถทำได้โดย

(1) ฟาร์มต้นทาง​ ทำการตรวจประเมินฝูง เพื่อยืนยันการปลอดต่อโรค ASF และตรวจโรคอื่น​ตามที่ต่างประเทศ​ที่จะส่งออกกำหนด

(2)​ แยกรถขนส่งที่ใช้เฉพาะการส่งออก​ และต้องแยกใช้ตามประเภทสินค้า

(3) รถขนส่ง​ ไม่ควรขับเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง​ ควรมีการทอยสุกรแบบใช้ชู้ทเป็นสะพานเชื่อม แล้ว​ย้ายหมูขึ้นรถขนส่งอีกคันที่พื้นที่ตรงชายแดน​ และจุดส่งควรแยกประเภทหมูที่ส่ง​ โดยให้จุดส่งหมูขุน​ แยกออกจากจุดส่งหย่านม/รุ่นพันธุ์​

(4) รถขนส่งที่มาส่งหมู​ หลังจากย้ายหมูเรียบร้อยแล้ว​ ให้ล้าง​ ฆ่าเชื้อ​ ณ​ จุดส่ง​ แล้วนำรถไปล้างอัดฉีดให้สะอาดอีกรอบก่อนกลับเข้าไปพักโรคในเขตคลีนโซน​ อย่างน้อย​ 72​ ชม.​ ก่อนไปรับหมูที่จุดขายในเที่ยวถัดไป

(5) รถขนส่งที่มารับหมู​ (ฝั่งต่างประเทศ) ​ต้องเป็นรถที่สะอาดฆ่าเชื้อมาแล้วตามข้อกำหนด​ และนำมาพ่นยาฆ่าเชื้ออีกครั้งที่จุดรับ​ ก่อนย้ายหมูขึ้นรถ

(6) พื้นที่รับส่งหมู​ ควรมีชู้ท หรือสะพานเชื่อม​ และพื้นจะต้องเป็นลานปูน​ มีร่องระบายน้ำ​ ป้องกันการหมักหมมของเชื้อโรคที่บริเวณ​จุดรับส่ง

(7) เมื่อทำการถ่ายโอนสุกรเรียบร้อยแล้ว​ ก่อนเลิกงาน​ควรล้าง​ พ่นยาฆ่าเชื้อให้ทั่วบริเวณ​จุดส่ง​ และโรยปูนขาวในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังให้เรียบร้อย

2. การส่งออกเนื้อหมู​ และผลิตภัณฑ์​หมู​ ไปประเทศเพื่อนบ้าน

การส่งออกเนื้อหมูในภาวะที่มีการระบาดจะจัดการด้านการป้องกันโรคง่ายกว่าการส่งหมูมีชีวิต​ ส่วนวิธีการนั้นให้ยึดตามข้อกำหนดของประเทศนั้นๆ ที่เป็นฝ่ายรับ​ ส่วนข้อกำหนดด้านการป้องกันโรค​จะเน้นที่ไม่ให้รถขนเนื้อหมูจากฝั่งไทยเข้าไปยังต่างประเทศโดยตรง​ ควรใช้วิธีการทอยแบบต่อท้ายที่ด่านชายแดน​ หรือการส่งแบบกำหนดจุดรับส่งเป็นห้องเย็นที่แยกทางเข้า และทางออกก็อยู่ในเกณฑ์​ที่สามารถป้องกันโรคได้​ โดยเน้นการทำความสะอาด​ ฆ่าเชื้อรถที่ด่าน​ 1​ รอบ​ และล้าง​ ฆ่าเชื้อ​ ก่อนออกจากพื้นที่เฝ้านะวัง (Buffer)​ อีก 1 รอบ​ ก่อนพักโรค 24 ชม. ก่อนไปรับเนื้อสุกรที่โรงชำแหละในเที่ยวถัดไป

การเตรียมพร้อมด้านมาตรฐาน​โรงชำแหละ​ได้ผ่าน​ GMP/HACCP แบบส่งออก​มีความสำคัญมาก​ เพราะการตรวจสอบย้อนกลับและมาตรการ​ป้องกัน ASF ทั้งฟาร์มต้นทางและโรงงานชำแหละ เป็นข้อกำหนดหลักที่คู่ค้าต้องการเป็นเงื่อนไขในการรับซื้อในยุคนี้

3.​ การส่งออกอุปกรณ์​ ยา​ เวชภัณฑ์​ อาหารสัตว์​ เข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน

ข้อกำหนดด้านการป้องกันโรค​ จะเน้นที่ไม่ให้รถขนสินค้าจากฝั่งไทยเข้าไปยังต่างประเทศโดยตรง​ ควรใช้วิธีการทอยแบบต่อท้ายที่ด่านชายแดน​ หรือการส่งแบบกำหนดจุดรับส่งเป็นโกดังเก็บของที่แยกทางเข้าและทางออกก็อยู่ในเกณฑ์​ที่สามารถป้องกันโรคได้​ โดยเน้นการทำความสะอาด​ ฆ่าเชื้อรถที่ด่าน​ 1​ รอบ​ และล้าง​ ฆ่าเชื้อ​ ก่อนออกจากพื้นที่เฝ้าระวัง (Buffer)​ อีก 1 รอบ​ ก่อนพักโรค 12 ชม. ก่อนไปรับสินค้าที่โรงงานในเที่ยวถัดไป

กรณีส่งออกทางเรือ (ทางทะเล)​ หรือเครื่องบินขนส่งสินค้า​ สามารถใช้วิธีการป้องกันโรคโดยการควบคุมรถขนส่งที่ไปส่งที่ท่าเรือ​ หรือสนามบิน​ โดยลดระยะพักโรครถขนส่งหลังล้าง​ เหลือเพียง​ 12​ ชม. ทุกกรณี​ (กรณีไม่ได้เข้าไปสัมผัสจุดเสี่ยงตามพื้นที่ชายแดน)​

สิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อม​ เพื่อให้การส่งออกหมูและสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้าน​ คือ

1) ​ต้องกำหนดจุดส่งออกข้ามแดนให้ชัดเจน​ และมีการตรวจการเคลื่อนย้ายตลอด 24 ชม.​ ป้องกันการลักลอบส่งออกนำเข้าผิดกฎหมาย​

2) จัดทำจุดรับส่งสินค้าที่ใช้แดน​ แยกตามประเภทและความเสี่ยง

3) นโยบาย​ลดความเสี่ยงในพื้นที่รับส่ง​ ทำให้เป็นจุด Buffer เช่น​ ห้ามมีการเลี้ยงหมูหลังบ้าน​ หรือเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง​ ในรัศมี 5 กม.​ จากจุดรับส่งสินค้า

4) ติดตั้งระบบ GPS รถขนส่ง สำหรับสินค้าส่งออกทุกคัน​ เพื่อตรวจสอบเส้นทางเดินรถ​ และระยะพักโรคให้เป็นไปตามข้อกำหนด

ทั้งหมดนี้เป็นทางออกของประเทศไทย​ ถ้าเราป้องกันโรคอย่างเดียว​ โดยไม่สนใจเรื่องการตลาด​ อุตสาหกรรม​หมูก็อาจจะถูกประเทศอื่นแทรกแซงได้​ และตอนนี้​ทางอเมริกา​ แคนาดา​ ยุโรป​ ก็วางแผนการผลิตหมูเพื่อส่งออกมายังประเทศเอเชีย​แทบทั้งสิ้น​ ถ้าทุกคนในประเทศ​ช่วยกัน​ ทั้งเรื่องการป้องกันไม่ให้ฟาร์มติดโรค​ ปฏิบัติ​ตามข้อกำห​นดเรื่องการเคลื่อนย้ายไม่ให้โรคแพร่ระบาด​ ประเทศไทยก็จะปลอดโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ไปอีกนาน​ จนถึงสถานการณ์​ที่ทั้งภูมิภาค​ขาดแคลนเนื้อหมูถึงขั้นราคาพุ่งเช่นเดียวกับจีนและเวียดนามในเวลานี้​ ทุกฟาร์มก็จะรวยไปด้วยกัน

แต่ถ้าประเทศไทยไปไม่รอด นอกจากหลายๆ ฟาร์ม​จะหายไปจากวงการ ประชาชนก็ต้องกินหมูที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพง​ ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ​โดยภาพรวม

ขอขอบคุณ : น.สพ.อดิศักดิ์​ สมอ่อน (CPF Swine Veterinary​ Service)

 

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com