ข่าว (News) ข่าวประชาสัมพันธ์ (Newsletter) นานาปศุสัตว์ (Animal News)

แนวปฏิบัติป้องกัน และรักษาโรคลัมปี สกิน อย่างถูกต้องเหมาะสม

วิทยาลัยวิชาชีพการสัตวแพทย์ชำนาญการแห่งประเทศไทย สัตวแพทยสภา ประเทศไทย แนะแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ เพื่อป้องกันและรักษา “โรคลัมปี สกิน”

ตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) โดยการใช้สารเคมี สมุนไพร และยาประเภทต่างๆ โดยปราศจากหลักฐานทางวิชาการ ทางวิทยาลัยวิชาชีพการสัตวแพทย์ชำนาญการแห่งประเทศไทย จึงออกแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและรักษาโรคลัมปี สกิน อย่างถูกต้องเหมาะสมสำหรับเกษตรกรดังนี้

การป้องกันการระบาดของโรคลัมปี สกิน

การป้องกันโรคลัมปีสกิน มี 3 องค์ประกอบหลักที่สำคัญ คือ
1.การควบคุมพาหะนำโรค
2.การดูแลสัตว์ป่วย
3.การฆ่าเชื้อไวรัสในสิ่งแวดล้อม

การควบคุมพาหะนำโรค

การควบคุมพาหะนำโรคจำพวกแมลงดูดเลือด อาทิ แมลงวันคอก เหลือบ ยุง และเห็บบางชนิด ทำได้ดังนี้

1.การควบคุมทางกายภาพได้แก่

– การจัดการมูลสัตว์และของเสียเพื่อไม่ให้แมลงวันวางไข่

– กางมุ้งให้สัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันแมลงโดยเน้นช่วงเวลาที่มีแมลงวันชุกชุม คือหลังฝนตก ซึ่งมีความชื้นสูง

– ใช้กับดักแมลงภายในฟาร์ม เช่น เครื่องช็อตไฟฟ้า หรือกาวดักแมลงวัน

– การจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และยับยั้งการวางไข่ของยุง เพื่อตัดวงจรการขยายพันธุ์ โดยปิดฝาภาชนะที่บรรจุน้ำให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำที่ใช้เลี้ยงสัตว์ทุกสัปดาห์ กำจัดแหล่งน้ำขัง (ท่อหรือร่องระบายน้ำและภาชนะต่างๆ) เลี้ยงปลาในบ่อน้ำ เป็นต้น

– การหมุนเวียนแปลงหญ้า และการดูแลสภาพแวดล้อมในคอกพักให้สะอาด เพื่อตัดวงจรเห็บ

2.การใช้สารเคมีนอกตัวสัตว์ ได้แก่ การฉีดพ่นภายในฟาร์ม หรือฉีดพ่นที่แหล่งเพาะพันธุ์แมลง

– การใช้สารเคมีเพื่อควบคุมพาหะนำโรคลัมปีสกิน ในสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวสัตว์ สามารถทำได้โดยใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทไดฟลูเบนซูรอน ไตรดลูมูรอน ไซโรมาซีน อะชาเมไทฟอส อิโตเฟนพรอกซ์ ดี-ฟีโนทริน อัลฟา-ไซเปอร์เมทริน เดลตาเมทริน และอะมิทราซ เป็นต้น

– ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมปศุสัตว์เท่านั้น อ่านฉลากแนะนำการใช้ ข้อควรระวัง และปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย

3.การใช้สารเคมีกับตัวสัตว์ ได้แก่ การใช้บ่อจุ่มตัวสัตว์ โรยผงฝุ่นแป้งบนตัวสัตว์ การติดเบอร์หูผสมสารเคมีกำจัดแมลง การราดหลัง การฉีดพ่นบนตัวสัตว์ การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และจะต้องใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ตามคำแนะนำเท่านั้น

คำเตือนอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้สารเคมี :

– สารเคมีแต่ละชนิดอาจเป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในลักษณะต่างกัน ควรศึกษาและปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง ตามคำเตือนและคำแนะนำในการใช้วัตถุอันตราแต่ละชนิด

– กรณีโคนม ห้ามใช้สารเคมีเหล่านี้ในขณะรีดนม และในพื้นที่โรงรีดนม

การดูแลสัตว์ป่วยที่ถูกต้องเหมาะสม

1.แยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง เพื่อลดโดกาสติดโรคไปยังตัวอื่น แต่ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์เด็ดขาด

2.การลดไข้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงแรกที่อุณหภูมิสัตว์จะขึ้นสูงเป็นเวลานาน อันเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ควรให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก เช็ดตัวสัตว์ด้วยน้ำวันละ 2-3 ครั้ง และมีน้ำสะอาดให้สัตว์กินเพียงพอ

3.รักษารอยโรคตุ่มหนองโดยใช้ยาทาภายนอก และยากำจัดแมลงเพื่อป้องกันแมลงวันมาวางไข่

4.เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์ป่วย โดยการจัดการอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดี มีน้ำสะอาดกินเพียงพอ และสามารถเสริมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสรรพคุณในการช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงได้

5.งดส่งนมและเนื้อจากสัตว์ป่วย ที่อยู่ในระยะการตกค้างของยาและสารเคมี

“โรคลัมปีสกินนี้ไม่มียารักษาโดยตรง มีเพียงการรักษาตามอาการ และควรให้ยาอย่างสมเหตุสมผลในการกำกับดูแลและปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ และร่วมมือในการป้องกันโรคด้วยวัคซีนที่ดำเนินการโดยกรมปศุสัตว์”

การฆ่าเชื้อไวรัสในสิ่งแวดล้อม

1.แสงแดดสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่ยังไม่ทราบเวลาที่แน่นอน

2.ความร้อน 55 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง หรือ 65 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที

3.สภาพความเป็นกรด-ด่าง (pH) ที่น้อยกว่า 6 หรือมากกว่า 8.6

4.สารเคมี น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น อีเทอร์ 20 เปอร์เซ็นต์ คลอโรฟอร์ม 1 เปอร์เซ็นต์ ฟอร์มาลิน 2-3 เปอร์เซ็นต์ โซเดียมไฮโปคลอไรต์ 2 เปอร์เซ็นต์ สารประกอบไอโอดีน (เจือจาง 1:33) เป็นต้น

ที่สำคัญที่สุด “หากพบสัตว์ป่วย ตาย ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ เพราะเป็นโรคระบาดตาม พ.ร.บ. หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องจะได้รับโทษตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์”

ประกาศ ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 วิทยาลัยวิชาชีพการสัตวแพทย์ชำนาญการแห่งประเทศไทย วาระ 2564-2566

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com