การที่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เกิดการระบาดขึ้นในประเทศลาว นั่นหมายความว่าโรคดังกล่าวใกล้ชายแดนไทยมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เกิดการระบาดครั้งแรกที่ประเทศเคนย่า ทวีปแอฟริกาเมื่อปีพ.ศ.2464 (ค.ศ.1921) (ที่มาของชื่อ ASF) ปัจจุปันมีการระบาดไปยังทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย ซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่ตรวจพบเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ขณะนี้มีการระบาดไปยังมองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา เกาหลีเหนือ และลาว เป็นประเทศล่าสุด ทำให้ไทยเกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ กันเลยทีเดียว
หากมองแนวเส้นตรงจากจุดเกิดโรค ASF ในจังหวัดสาละวัน ประเทศลาว ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 60 กว่ากิโลเมตร แต่ประเทศไทยเองในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่อันดับสองของเอเชียกำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงสูงเช่นกัน ก็ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือและการป้องกันโรคดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการยกระดับระบบไบโอซีเคียวริตี้ในฟาร์ม มาตรการต่างๆ และการสร้าง “ศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์” ตามด่านชายแดนต่างๆ โดยหวังว่าจะสามารถป้องกันโรคนี้ได้
สำหรับการระบาดโรค ASF ในประเทศลาวนี้เป็นไปได้ว่ามาจากการระบาดในประเทศเวียดนาม เนื่องจากโรค ASF ได้รับการประกาศในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับจังหวัดสาละวัน ประเทศลาว คือ Thua Thien-Hue (ตั้งแต่เดือนมีนาคม) และ Quang Tri (ตั้งแต่เดือนเมษายน) หากมองแนวเส้นตรงแล้วมีระยะห่างจากชายแดนของเวียดนามเพียง 60 กว่ากิโลเมตรเช่นกัน (ระยะใกล้สุด) ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยมาก
ขณะเดียวกันเวียดนามยังคงต่อสู้กับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) อย่างต่อเนื่อง ตัวเลขล่าสุดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีการทำลายสุกรแล้วกว่า 2.8 ล้านตัว (ทางการแถลง) มูลค่าความเสียหายมากกว่า 154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5 พันล้านบาท) และได้รายงานการระบาดอย่างเป็นทางการแล้ว 60 จังหวัด จาก 63 จังหวัด (เหลือเพียง 3 จังหวัดเท่านั้นที่ยังไม่ประกาศการระบาด) คิดเป็น 95% ของพื้นที่ ทั้งนี้เวียดนามอาจต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ลุกลามจนไม่มีทีท่าว่าจะสามารถควบคุมได้
สำหรับในไทยเองยังไม่มีการรายงานการระบาดของโรคนี้ แต่ต้องสกัดกั้นทุกช่องทางไม่ให้หลุดรอดเข้ามาได้ เนื่องจากเป็นแล้วไม่มีทางรักษา เชื้อโรคสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมทั่วไปได้นาน ทนต่อความร้อนได้สูง แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วจากการสัมผัส ระบบการขนส่ง เสื้อผ้า น้ำเสียจากฟาร์ม และผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูที่ปนเปื้อน เช่น แฮม ใส้กรอก กุนเชียง แหนม และเบคอน เป็นต้น ล่าสุดนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศห้ามการนำเข้าสุกร หมูป่า หรือซากสุกร ซากหมูป่า จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นเวลา 90 วัน และคุมเข้มการนำเข้าทุกด่านชายแดนเพื่อไม่ให้โรคดังกล่าวหลุดรอดเข้ามาได้
ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ช่วยกันคนละไม้คนละมือ อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว (พวกลักลอบนำเข้า) ติดตามข่าวสารและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ทำหน้าที่และบทบาทของตนให้เต็มที่ ระบบไบโอซีเคียวริตี้ในฟาร์มจะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก เพราะไม่อยากให้ซ้ำรอยเหมือนการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกมาแล้ว