โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ที่ระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูในประเทศเป็นอย่างมาก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างประเทศเวียดนามและกัมพูชา และคาดว่าอาจลุกลามไปยังประเทศอื่นในทวีปเอเชียได้อีกด้วย หากการเฝ้าระวังและป้องกันไม่ดีพอ ล่าสุดประเทศลาว ได้ประกาศการระบาดของโรคนี้แล้ว เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่สร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้เลี้ยงหมูหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่จะประมาทไม่ได้!!!
ถึงแม้โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคที่ติดต่อสู่คน และยังไม่เกิดการระบาดในไทยก็ตาม แต่ก็สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้เลี้ยงหมูไม่น้อย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและวิธีการรักษา และที่สำคัญเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถอยู่ได้นานในสภาพแวดล้อมปกติทั่วไป หรือแม้กระทั่งในซากหมูก็ตาม ซึ่งหมูที่ติดเชื้อจะป่วยและมีอัตราการตาย 30-100% หากเกิดในลูกหมูจะสูงถึง 80-100% เป็นตัวเลขความเสียหายที่มหาศาล
เฝ้าระวังและมาตรการป้องกัน
สำหรับประเทศไทยแม้จะยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าว มีเพียงก่อนหน้านี้ที่ตรวจพบการนำผลิตภัณฑ์ (ไส้กรอก) ที่ปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จากนักท่องเที่ยวจีน ดังนั้นยิ่งต้องรีบทำความเข้าใจและตื่นตัวให้มากขึ้น “ทุกคน” ทั้งผู้เลี้ยงและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในการป้องกันอย่างเข้มงวดกว่าปัจจุบัน และพร้อมรับมือหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น
กรมปศุสัตว์เองก็ได้กำชับทุกภาคส่วนเดินหน้าป้องกันและเข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้น โดยการตั้งด่านตรวจ 50 ด่านทั่วประเทศ ตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ด่านกักกันสัตว์ และสนามบิน มีการออกคำเตือนนักท่องเที่ยวห้ามนำผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อหมูเข้ามาในไทยโดยเด็ดขาด ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงถึง 2 แสนบาท
อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนช่วยกันและตระหนักถึงระบบ Biosecurity มาตรฐาน GAP และมาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม หรือ GFM เพราะหากโรคนี้เกิดระบาดขึ้นในไทย เตรียมวาดภาพ “หายนะ” ของอุตสาหกรรมหมูไว้ได้เลย ซึ่งเป็นภาพเดียวกันกับเมื่อครั้งเกิดการระบาดของไข้หวัดนกแน่นอน อย่าให้มันเกิด “ซ้ำรอย”
จริงอยู่…เดิมทีมองว่าโรคนี้อาจดูเหมือนไกลตัว แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว มันเริ่มเข้ามาป้วนเปี้ยนใกล้บ้านเราเข้าไปทุกที ดังนั้นเรา!!! เตรียมความพร้อมในฟาร์มดีพอหรือยัง?