โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) หรือโรคที่ชาวหมูเรียกกันสั้นๆ ว่า “โรค ASF ในสุกร” โรคนี้เริ่มคุ้นหูคนไทย หลังจากการแพร่ระบาดในหลายๆ ประเทศ ทั้งทวีปแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย (ประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์) นับวันยิ่งเพิ่มการระบาดมากขึ้น ซึ่งหลายประเทศก็ตระหนักถึงความรุนแรงและผลกระทบที่จะตามมา ไม่เพียงแต่เฝ้าระวังเท่านั้น ยังมีมาตรการป้องกัน ปิดจุดเสี่ยงต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดผลเสียและการแพร่ระบาด แล้วไทยเราตระหนักรู้ถึงเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เพราะโรคนี้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสูงมาก
>>อ่าน ASF เพิ่มที่นี่<<
สำหรับประเทศไทยท่ามกลางความอึมครึมของกระแสข่าวในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ยังไม่มีการรายงานการระบาดของโรคนี้จากภาครัฐ เรื่องดังกล่าวนี้กรมปศุสัตว์ออกมาย้ำทุกครั้งว่า “ประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรค ASF ในสุกร สามารถบริโภคหมูได้ปลอดภัย เพราะไม่ติดต่อสู่คน”
ทว่าหากพบว่ามีการระบาดของโรคก็จะทำให้ราคาเนื้อหมูในประเทศปรับตัวสูงขึ้น เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศจีนและเวียดนามที่ขาดแคลนแหล่งโปรตีนจากเนื้อหมู มองแล้วอาจดูเหมือนเป็นข่าวดีสำหรับคนเลี้ยงหมูที่รอดจากวิกฤตดังกล่าว แต่อย่าลืมว่าหากมองอีกมุมในด้านของผู้บริโภค ถ้าประชาชนรู้สึกวิตกกังวลไม่กล้าที่จะซื้อเนื้อหมูมาบริโภค แล้วหันไปรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว หรือเนื้อปลาแทน เรื่องนี้ก็น่าคิดเช่นกัน ถึงอย่างไรปริมาณผลผลิตในตลาดที่หายไปก็จะทำให้ราคาสูงขึ้นอยู่ดี
ปัจจุบันประเทศไทยประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดของโรค ASF ในสุกร แล้ว 27 จังหวัด (ข้อมูลกรมปศุสัตว์)
จังหวัดเขตเฝ้าระวังโรค 22 จังหวัด
• ภาคเหนือ : เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่
• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) : เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์
• ภาคตะวันออก : สระแก้ว จันทบุรี และตราด
• ภาคตะวันตก : ราชบุรี
• ภาคใต้ : ระนอง และประจวบคีรีขันธ์
จังหวัดเขตเฝ้าระวังบางส่วน 5 จังหวัด
• ตาก (5 อำเภอ) : อุ้มผาง แม่สอด ท่าสองยาง แม่ระมาด และพบพระ
• พิษณุโลก (2 อำเภอ) : ชาติตระการ และนครไทย
• เพชรบุรี (2 อำเภอ) : หนองหญ้าปล้อง และแก่งกระจาน
• กาญจนบุรี (5 อำเภอ) : สังขละบุรี ทองผาภูมิ ไทรโยค เมืองกาญจนบุรี และด่านมะขามเตี้ย
• ชุมพร (1 อำเภอ) : ท่าแซะ
การต่อสู้กับโรค ASF ในสุกร หายนะอุตสาหกรรมหมู ใช่ว่าจะต่อสู้ไม่ได้ รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ ใช้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เท่านั้นถึงจะรอด เพราะระบบไบโอซีเคียวริตี้ไม่มีคำว่าครึ่งๆ กลางๆ มีแต่ 100% อีกอย่างโรคนี้รุนแรงกว่าที่คิด (อย่าชะล่าใจ) กระทบทั้งระบบตั้งแต่เกษตรกร คนเลี้ยงหมู เจ้าของฟาร์ม โรงงานอาหารสัตว์ คนขายวัตถุดิบ บริษัทยาและเวชภัณฑ์ โรงงานแปรรูปอาหาร ร้านอาหารตามสั่ง เป็นต้น วาดภาพคนตกงานไว้ได้เลย…
หากพบการป่วยตายของสุกร โดยมีอาการไอ ไข้สูง นอนสุมกัน ขาหลังไม่มีแรง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก มีรอยช้ำที่ผิวหนัง บริเวณใบหูและท้อง ท้องเสียเป็นเลือด และแม่สุกรมีการแท้ง ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที สายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 063-225-6888 หรือแอปพลิเคชั่น DLD 4.0 เพื่อประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคในสุกร
Sponsored