ข่าว (News) สุกร (Pig)

“ASF ไม่ติดต่อสู่คน” ชาวโซเชี่ยลโปรดแชร์อย่างมีสติ

ท่ามกลางข่าวลือมากมายเกี่ยวกับการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ในประเทศไทย คงไม่มีอะไรเสียใจไปมากกว่าการเห็นคนโพสต์ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคนี้ว่า “จะเลิกกินหมู” หรือ “กลัวติดโรคจากหมู” ซึ่งมันทำให้เห็นว่าการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องนั้นยังไปไม่ถึงระดับผู้บริโภคอย่างทั่วถึง ฉะนั้นอยากให้ทุกคน (ที่อ่านบทความนี้) ช่วยกันสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ในสุกร ว่ามัน “ไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน”

African Swine Fever (ASF) : หรือที่เราเรียกกันว่า “โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF)” ในสุกร เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศนั้นๆ แล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มี “วัคซีน” ในการป้องกันและควบคุมโรค ขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกร (ไส้กรอก แฮม แหนม) และสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะนำโรคได้ตลอดชีวิต และยิ่งกว่านั้นโรคนี้เป็นโรคที่มีความความรุนแรงสูง ทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

แต่หากถามว่าถ้ามันไม่อันตรายแล้วทำไมต้องทำลายหมู? ถ้ามองในมุมของการระบาดพบว่า ถ้าปล่อยให้สุกรที่ติดเชื้อถูกขายเข้าสู่ตลาด ผลกระทบที่ตามมาจะเสียหายอย่างมหาศาลต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู ชิ้นส่วนอวัยวะ เลือด หรือแม้กระทั้งสิ่งสกปรกที่ถูกปล่อยลงถนนขณะขนส่งสุกรติดเชื้อ ประกอบกับความคงทนในสิ่งแวดล้อมของตัวเชื้อ ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงมากที่เชื้ออาจมีการหลุดรอดไปยังฟาร์มเกษตรกรได้ ทีนี้ก็จะทำให้โรคดังกล่าวขยายวงกว้างจนเกินเยียวยา และผลกระทบที่ตามมาอาจทำให้ราคาเนื้อสุกรแพงเป็นประวัติศาสตร์ (เช่นเดียวกับประเทศจีน) เพราะปริมาณการผลิตในประเทศลดลง ซึ่งเชื่อว่าทุกคนทราบดีจากบทเรียน “โรคไข้หวัดนก” ในสัตว์ปีกมาแล้ว

ดังนั้นข้อสงสัยของผู้บริโภคที่ว่ากินเนื้อหมูช่วงนี้จะเป็นอะไรไหม? ตอบได้อย่างชัดเจนเลยว่า “สามารถกินเนื้อหมูได้ตามปกติ” แต่ถึงอย่างไรต้องกินเนื้อหมูแบบปรุงสุก โดยคุณหมออดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยความเชื่อมั่นว่า “เชื่อหมอเถอะ หมอเรียนมา”

ขอบคุณ : น.สพ.อดิศักดิ์ สมอ่อน

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com