ข่าว (News) วิชาการปศุสัตว์ (Livestock Article) สุกร (Pig)

ไบโอซีเคียวริตี้ กุญแจสำคัญป้องกันโรค ASF ในหมู

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในขณะนี้ไม่มีเรื่องไหนที่ถูกพูดถึงกันเท่ากับโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า African Swine Fever (ASF) ที่เป็นประเด็นร้อนของอุตสาหกรรมหมูอีกแล้ว มีหมูตายและทำลายทิ้งในเอเชียเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน ทำให้เกิดการปรึกษา พูดคุย การเฝ้าระวังและป้องกันโรคดังกล่าวทั้งไลน์และเฟซบุ๊กมากขึ้น เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวต่างๆ รวดเร็วทันใจเพียงปลายนิ้ว

ทีนี้มาดูกันว่าโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) เป็นมาอย่างไร (ย้ำกันให้เข้าใจอีกครั้ง)

African Swine Fever (ASF) หรือโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศเคนย่า ทวีปแอฟริกา เมื่อปีพ.ศ. 2464 (ค.ศ.1921) และมีการระบาดไปยังทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย โรคนี้เป็นโรคไวรัสที่ระบาดในสุกร หากเกิดการระบาดจะทำให้สุกรตายสูงที่สุด 100% ยังไม่มีวัคซีนและการรักษา เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน (เน้นย้ำ) เชื้อสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือซากได้นาน ประเทศที่มีการระบาดจะมีผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจ

โรคนี้สามารถติดต่อในสุกรได้ทุกกลุ่ม และทุกช่วงอายุ อาการที่ปรากฏชัดคือตายเฉียบพลัน มีไข้สูง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก หรือรอยช้ำโดยเฉพาะหลังใบหู ท้อง และขาหลัง รวมถึงอาการทางระบบอื่นๆ ด้วย เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และการแท้งในสุกรแม่พันธุ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผู้เลี้ยงสุกรทราบกันดีว่าขณะนี้โรคดังกล่าวประชิดชายแดนไทยมากขึ้น (เคาะประตูบ้าน) แต่การเฝ้าระวังป้องกันโรค เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างก็ช่วยกันทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ ทั้งภาครัฐและเอกชน ฉะนั้นการนี้จะขาดตกบกพร่องไป “ไม่ได้” พลาดคือ “จบ” ขณะที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อยากให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนให้ดี ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า (คนจับหมู) โรงเชือด ฟาร์มรายย่อย รายกลาง หรือรายใหญ่ (บริษัท) ช่วยกันคนละไม้คนละมือ คิดถึงประเทศให้มากกว่าประโยชน์ส่วนตน คนละเล็กละน้อยก็จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้

ตามที่ได้จั่วหัวไว้ว่า “ระบบ Biosecurity คือกุญแจสำคัญในการป้องกันโรค ASF” ไม่ได้มโน หรือนั่งเทียนเขียนแต่อย่างใด หลายประเทศ หลายฟาร์ม หลายสถานที่ก็ใช้ระบบนี้กันทั้งนั้น ทำก่อนได้เปรียบก่อน เพราะเวทีนี้ แพ้คัดออก” แน่นอน!!!

ด้านน.สพ.วัชรวรัชญ์ จันทร์จริยากุล ได้แสดงความคิดเห็น และแนะนำเกี่ยวกับปัญหาโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเตรียมรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ดังนี้

1. โรคนี้ไม่มี Auto immune หรือ Serum neutralization ทำให้สุกรไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคได้ เพราะถ้าสามารถทำได้คงได้วัคซีนมาใช้นานแล้ว เพราะโรคเกิดขึ้นมานาน และมีความพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ในปัจจุบัน เพราะถ้าสุกรสามารถสร้างภูมิกันได้ ความหวังในการทำวัคซีนก็อยู่ไม่ไกล

2. การเกิดปัญหา ความเสียหายจะเกิดขึ้นในรูปแบบช้าๆ ในกลุ่มแม่พันธุ์ เพราะการติดเชื้อจะกระจายไปช้า ตามลักษณะของโรคที่ติดต่อกันโดยการสัมผัส แต่ความเสียหายจะคงเกิดอย่างต่อเนื่อง และเสียหายสะสมมากกว่า 2-3 เดือน เพราะพบลักษณะเสี่ยงนี้ในประเทศจีนในบางพื้นที่ที่เค้าไม่ทราบว่าติดเชื้อนี้แล้ว ส่วนในสุกรขุนนั้น จะเกิดความเสียหายที่รวดเร็วและรุนแรงกว่า เพราะเลี้ยงรวมในคอกเดียวกัน

3. การใช้ยาใดๆ ยังไม่มียาใดๆ ที่ได้ผลในการควบคุมและรักษา ทางรัฐบาลจีน ได้มีการวางงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัยและนักวิชาการในจีนเพื่อศึกษาหนทางในการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งความพยายามในเรื่องวัคซีน หรือการหาทางใช้ยาหรือสมุนไพรในการควบคุมปัญหาดังกล่าว

4. พาหะทุกอย่าง ทั้งนก หนู และสัตว์ที่สามารถย้ายถิ่นได้ มีโอกาสนำพาเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม การเฝ้าระวังป้องกันโรคโดยใช้ระบบการป้องกันที่เรากล่าวกันคือ Biosecurity คือทางป้องกันที่ดีที่สุด ณ ขณะนี้ เพราะจากที่พบระบบนี้ในประเทศจีนและเวียดนามที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำได้ไม่ดีพอ ยังมีจุดอ่อนอีกหลายจุด จากการคุยกับ Professor Yang Han Chun ของประเทศจีน ท่านก็แนะนำว่าทางเดียวที่จะป้องกันปัญหานี้ได้คือ “ระบบ Biosecurity ที่ดี” เท่านั้น ณ เวลานี้

“ไม่มีใครช่วยเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง”

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com