ข่าว (News) สุกร (Pig)

DSI ความหวังใหม่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู สู่จุดจบ “หมูเถื่อน”

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม รับคดี “หมูเถื่อน” ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง161 ตู้ จำนวน 4,500 ตัน (4.5 ล้านกิโลกรัม) มูลค่า 460 ล้านบาท จากกรมศุลกากร ไว้เป็นคดีพิเศษ เห็นได้ชัดว่าการดำเนินคดีมีการเปิดเผย โปรงใสและรวดเร็ว เริ่มจากการตรวจสอบหลักฐานทั้ง “ของกลาง” และผู้เกี่ยวข้องในรูปบริษัท บุคคล รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ อยู่ในข่ายต้องเข้าให้ปากคำเพื่อเก็บหลักฐานทั้งสิ้น ซึ่งการเปิดตู้ที่ถูกอายัดไว้พบว่าของกลางยังอยู่ครบ และมีการปิดตู้ (Seal) อย่างดี เพื่อป้องกันการเปิดตู้และเคลื่อนย้ายสินค้าออกไปหลังจากนี้

 

สำหรับ “คดีหมูเถื่อน” เชื่อว่า DSI จับตามาก่อนหน้านี้แน่นอน เนื่องจากเป็นการทำผิดกฎหมายซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้างและมูลค่าความเสียหายสูง ที่สำคัญอาจมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการ “ทุจริต” ในคดีนี้ ตลอดจนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเกิดโรคระบาด ASF ซ้ำ ร่วมถึงโรคระบาดสัตว์อื่นที่ไม่พึงประสงค์ ล้วนเป็นปัจจัยบ่อนทำลายสุขภาพที่ดีของสัตว์และผู้บริโภค ทั้งคนไทยและประชากรโลก

เมื่อ DSI รับเข้ามาดำเนินคดี หลักฐานสำคัญถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนประกอบด้วยรายชื่อผู้นำเข้า 11 บริษัท และสายการเดินเรือ 17 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหมูเถื่อน 161 ตู้ ซึ่งจะช่วยในการสืบสวนต่อจากนี้ไปเพื่อรวบตัว “หัวหน้าใหญ่” ตัวจริง และอาจจะรวมถึงข้าราชการที่ละเลยการตรวจสอบปล่อยให้เนื้อสัตว์ผิดกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งที่หลักฐานดังกล่าวควรเปิดเผยก่อนหน้านี้ ภายใต้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 แต่คดีกลับไม่มีความคืบหน้า

ทั้งนี้ การเปิดตู้สินค้าตรวจสอบของกลางที่ท่าเรือแหลมฉบัง ยังดำเนินต่อเนื่องจนครบทั้ง 161 ตู้ ทยอยเปิดตู้ไปแล้ว 4 วัน (ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2566) จำนวน 135 ตู้ ยืนยันว่าของกลางอยู่ครบตามเอกสารที่แจ้งไว้ และจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะแล้วเสร็จ

หมูเถื่อนเข้ามาเหยียบย่ำผู้เลี้ยงหมูไทยเป็นแรมปี แต่การดำเนินคดีเป็นไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งคดีก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยเพียงชื่อพนักงานขับรถ ขณะที่เจ้าของสินค้ารับทราบในขั้นตอนของตำรวจ เกิดคำถามว่ามีการแจ้งความตามขั้นตอนอย่างโปรงใสหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การสอบสวนดำเนินดคีของตำรวจ ซึ่งข้อสังเกตนี้ DSI คงต้องเรียกเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำด้วย

ตั้งแต่เกิดวิกฤตโรคระบาด ASF ทำให้หมูขาดแคลนในปี 2565 ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ คาดการณ์ว่ามีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมาไม่น้อยกว่า 1,000 ตู้ (ตู้ละประมาณ 25 ตัน) สร้างความเสียหายกับห่วงโซ่การผลิตและการค้าเนื้อหมู ประเทศต้องสูญเสียรายได้ หมูเถื่อนจำนวนมหาศาลเข้ามาแทรกแซงตลาด กดราคาขายทำให้ผู้เลี้ยงขาดทุนต่อเนื่อง แม้จะมีการชี้เบาะแสมาโดยตลอดว่า ท่าเรือแหลมฉบังเป็นช่องทางนำเข้าใหญ่ที่สุด แต่การตรวจสอบจับกุมต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปี และจับกุมได้เพียงส่วนน้อยไม่ถึง 1 ใน 3 ของการลักลอบนำเข้า

วันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นความหวังใหม่ ที่เข้าควบคุมคดีการจับกุมหมูเถื่อนจำนวนมากที่สุดในประเทศ ผู้เลี้ยงหมูและสังคม หวังใจว่าคดีนี้จะ “ไม่คว้าน้ำเหลว” เช่นที่ผ่านมา แต่จะสามารถตัดตอนเส้นทางหมูเถื่อนและเชื่อมต่อไปถึง “หัวหน้าขบวนการไทยเทา” ที่ “ปล้นชาติ” กอบโกยผลกำไรไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวบนความเดือดร้อนของเกษตรกร มารับโทษขั้นสุงสุด จนถึงการยึดทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่สุจริต เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยมานานกว่า 1 ปี.

สมิง วงศ์รามัญ ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com