นานาปศุสัตว์ (Animal News) วิชาการปศุสัตว์ (Livestock Article)

“ข้าว” วัตถุดิบอาหารสัตว์ด้านพลังงาน – ปศุศาสตร์ นิวส์

ข้าวเปลือกบด (ground paddy rice) ถือว่าเป็นวัตถุดิบอาหารพลังงานที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีการนิยมใช้ในการเลี้ยงสัตว์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงที่ปลายข้าวมีราคาแพง และข้าวเปลือกมีราคาถูก ข้าวเปลือกบดได้จากการเอาข้าวเปลือกทั้งเมล็ดมาบดให้ละเอียด โดยเครื่องบดแบบแฮมเมอมิลล์หรือบดแบบโม่หิน ข้าวเปลือกบดจะมีองค์ประกอบคุณค่าทางอาหารโดยประมาณดังนี้ คือ ความชื้น 10%, โปรตีน 8.2%, เยื่อใย 9.2%, ไขมัน 1.9% ,เถ้า 6.5% และคาร์โบไฮเดรตย่อยง่าย (NFE) 62.4% จะเห็นได้ว่าข้าวเปลือกบดมีปริมาณเยื่อใยสูง เพราะยังมีส่วนของเปลือกข้าว หรือแกลบ เป็นองค์ประกอบอยู่ เมล็ดข้าวจะมีส่วนของแกลบประมาณ 20-25% ซึ่งส่วนของแกลบจะมีเยื่อใยและสารซิลิกา (silica) ประมาณ 40% และ 11-19% ตามลำดับ และมีผลทำให้ข้าวเปลือกบดมีค่าพลังงานใช้ประโยชน์ได้ในสุกรเพียง 2,671 กค./กก. เท่านั้น การใช้ข้าวเปลือกบดในอาหารสุกรควรกระทำด้วยความระมัดระวังดังต่อไปนี้

1.ข้าวเปลือกที่บดเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมใช้เลี้ยงสัตว์ ควรมีราคาถูกกว่าปลายข้าวไม่น้อยกว่า 25% หรืออาจจะพูดได้ว่าข้าวเปลือกเมล็ดควรมีราคาถูกกว่าปลายข้าวไม่น้อยกว่า 30% (บวกค่าบดละเอียดอีก 5%) จึงจะคุ้มกับการใช้เป็นอาหารสัตว์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้าวเปลือกบดจะมีแกลบเป็นองค์ประกอบประมาณ 20-25% ซึ่งองค์ประกอบส่วนนี้ร่างกายไม่สามารถย่อยและใช้ประโยชน์ได้ เมื่อสัตว์กินเข้าไปจะถูกขับถ่ายออกมาเป็นมูลเป็นส่วนใหญ่ สุกรที่กินอาหารใช้ข้าวเปลือกบด จึงมีการถ่ายมูลที่มากกว่าปกติ อีกทั้งเป็นการเพิ่มภาระในการกำจัดมูลด้วย

2.ข้าวเปลือกบดจะมีลักษณะฟ่ามและเป็นฝุ่นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของละอองข้าว ซึ่งเมื่อสุกรกินสูตรอาหารข้าวเปลือกบดจะมีอาการไอ จาม กินน้ำมาก ทำให้กินอาหารได้ลดลง สูตรอาหารข้าวเปลือกบดจึงควรมีการเสริมกากน้ำตาลหรือไขมันในระดับ 4.5% ในอาหาร เพื่อเป็นการกำจัดฝุ่นหรือละอองให้หมดไป ซึ่งจะช่วยทำให้สุกรกินอาหารได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามการเสริมกากน้ำตาลหรือไขมัน ไม่สามารถแก้ลักษณะความฟ่ามของข้าวเปลือกบดได้

3.ส่วนของเยื่อใยในข้าวเปลือกจะมีสารไฟตินอยู่สูง ซึ่งสารไฟตินในอาหารจะไปรบกวนการย่อยได้ของโปรตีนในอาหาร รวมทั้งไปรบกวนการดูดซึมแร่ธาตุที่มีประจุ 2+ ได้แก่ แคลเซียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี แมกนีเซียม และแมงกานีส ในระบบทางเดินอาหาร ทำให้แร่ธาตุเหล่านี้แม้มีอยู่อย่างครบถ้วนในหัวไวตามิน-แร่ธาตุ แต่ไม่สามารถเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ ทำให้สุกรเกิดอาการขาดธาตุดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุสังกะสีจะถูกยับยั้งได้ง่ายที่สุด เพราะสารไฟตินมีความสามารถจับกับธาตุสังกะสีได้ดีที่สุด การใช้ข้าวเปลือกบดในอาหารจึงมักมีโอกาสทำให้สุกรเกิดอาการขาดธาตุสังกะสี และแสดงอาการขี้เรื้อนชนิดพาราเคอราโทซิส (parakeratosis) ได้มาก ทั้งๆ ที่ในอาหารสัตว์นั้นมีปริมาณธาตุสังกะสีเพียงพอกับความต้องการของสัตว์

4.ข้าวเปลือกบดจะมีส่วนของสารซิลิกา ซึ่งมีลักษณะหยาบและสาก เป็นองค์ประกอบในปริมาณสูง การใช้ข้าวเปลือกบดในอาหารเป็นวัตถุดิบพลังงานหลัก จะทำให้อาหารมีลักษณะหยาบและสากตามไปด้วย ซึ่งมีผลไปครูดระบบทางเดินอาหารของสุกร ทำให้มีการสูญเสียเยื่อบุผนังลำไส้เล็กมาก ลำไส้มีลักษณะบาง ใส และทำให้ประสิทธิภาพการย่อยและการดูดซึมอาหารลดลง

5.เนื่องจากข้าวเปลือกบดมีปริมาณเยื่อใยสูง และอาหารข้าวเปลือกบดจะมีพลังงานต่ำ ดังนั้นสุกรจำเป็นต้องมีการกินอาหารข้าวเปลือกบดในปริมาณสูงขึ้น จึงจะได้ปริมาณพลังงานเพียงพอกับความต้องการนั้น สูตรอาหารข้าวเปลือกบดจะมีค่าประสิทธิภาพการใช้อาหาร (FCR) ด้อยกว่าสูตรอาหารปลายข้าวประมาณ 20-30% อีกทั้งสุกรจะมีลักษณะทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ขยายใหญ่มาก ซึ่งมีผลทำให้เปอร์เซ็นต์ซากของสุกรลดลง อาจทำให้ไม่สามารถขายสุกรได้ตามราคาปกติได้

6.การบดข้าวเปลือกจะก่อให้เกิดการเสียหายกับเครื่องบดเป็นอย่างมาก เพราะส่วนของแกลบจะมีสารซิลิกาอยู่ในปริมาณสูง ซึ่งสารซิลิกาจะทำหน้าที่คล้ายกระดาษทรายขัดเครื่องบดอาหาร ขณะทำการบดข้าวเปลือก ทำให้เครื่องบดมีการสึกหรอเร็วมาก ค่าใช้จ่ายในการบดสูงขึ้น

จะเห็นได้ว่าการใช้ข้าวเปลือกบดเป็นอาหารสัตว์ไม่ได้กระทำได้อย่างง่ายๆ ดังเช่นการใช้ปลายข้าว เพราะข้าวเปลือกบดจะมีส่วนที่เป็นแกลบที่เป็นปัญหามากในอาหารสัตว์ติดมาด้วย โดยปกติแล้วข้าวเปลือกบดไม่สามารถใช้ได้เกิน 35-40% ในสูตรอาหารสุกรยุคเก่าๆ ที่มีการเติบโตไม่เร็วมาก การใช้ในสูตรอาหารสุกรยุคใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง และต้องการอาหารที่มีคุณภาพดีขึ้น ยิ่งสามารถใช้ข้าวเปลือกบดได้ในระดับต่ำกว่านี้ นอกจากนี้การใช้ข้าวเปลือกบดในสูตรอาหารสัตว์จำเป็นต้องมีการปรับระดับพลังงานในอาหารให้เพียงพอแก่ความต้องการของสัตว์ หากต้องการให้สัตว์มีการเติบโตตามปกติ อีกทั้งอาจต้องมีการเพิ่มระดับการใช้หัวไวตามิน-แร่ธาตุในสูตรอาหารให้สูงขึ้น เพื่อชดเชยกับการถูกรบกวนการดูดซึมโดยสารไฟตินในแกลบ ดังนั้นหากราคาข้าวเปลือกบดไม่ถูกจริงๆ แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้าวเปลือกบดในสูตรอาหารสุกรและสัตว์ปีกทุกชนิดเลยจักดีกว่า เพราะราคาอาหารที่ถูกลง อาจไม่คุ้มค่ากับผลเสียของข้าวเปลือกบดที่จะเกิดขึ้นกับตัวสัตว์ได้ หรือหากข้าวเปลือกมีราคาถูกจริง ควรแปรรูปเป็นข้าวกล้อง หรือข้าวแดง แล้วนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ จะมีความปลอดภัยในการใช้มากกว่ามาก

ข้าวกล้องบด หรือข้าวแดงบด (ground brown rice) ผลิตจากการกะเทาะเอาเปลือก หรือแกลบ ออกจากเมล็ดข้าว จนได้ข้าวกล้องหรือข้าวแดง แล้วทำการบดละเอียด จึงสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ โดยรวมข้าวกล้อง จะประกอบด้วยรำละเอียด และข้าวสาร หรือปลายข้าว ผสมกัน และมีองค์ประกอบคุณค่าทางอาหารข้าวกล้องมีเยื่อใยอยู่ในระดับต่ำ และมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับปลายข้าวมาก จึงสามารถใช้ทดแทนปลายข้าวในสูตรอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ ได้ดี โดยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความฟ่าม การเป็นฝุ่น และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสารไฟตินแต่ประการใด แม้ในการผลิตข้าวกล้องจะต้องมีการกะเทาะเอาเปลือกข้าว หรือเอาแกลบออกเพิ่มเติมขึ้นมา โดยการประยุกต์ใช้เครื่องจักรส่วนนี้จากโรงสีข้าวได้ แต่การบดข้าวกล้องจะกระทำได้ง่ายกว่าการบดข้าวเปลือก และค่าสึกหรอเครื่องจักรก็ต่ำกว่ามาก ในขณะที่ข้าวกล้องบดจะใช้ในสูตรอาหารได้มากกว่าข้าวเปลือกบด หรือใช้ได้เท่ากับปลายข้าวทั้งหมดในสูตรอาหาร ผลการใช้จะดีกว่า และปัญหาในการใช้ก็น้อยกว่าด้วย

ที่มา : อาหารสุกรและสัตว์ปีกเชิงประยุกต์ โดย รองศาสตราจารย์อุทัย คันโธ

ขอขอบคุณ : รูปภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com