ข่าว (News) สุกร (Pig)

วอนรัฐ-ผู้บริโภคเข้าใจเหตุหมูขยับ เชื่อกลไกตลาดดันสมดุลได้

ผู้เลี้ยงหมูวอนรัฐอย่าคุมราคาหมู เหตุซ้ำเติมเกษตรกร เพราะราคาหมูหน้าฟาร์มเพิ่งคุ้มทุนได้แค่ 2 เดือน หลังจากที่เกษตรกรขาดทุนสะสมต่อเนื่องยาวกว่า 2 ปี สาเหตุหลักมาจากปริมาณหมูในระบบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลจากสภาพอากาศที่ร้อนแล้ง ทำให้หมูเติบโตช้ากว่าปกติ ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรค ทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องปรับลดการผลิตลง เพื่อความอยู่รอด

ในปี 2566-2567 เกษตรกรต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ต้นทุนการเลี้ยงสุกรเฉลี่ยสูงถึง 76 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เกษตรกรขาดทุนหนักถึง 40% หรือประมาณ 3,600 บาทต่อตัว ส่งผลให้ฟาร์มขนาดเล็กจำนวนมากต้องเลิกเลี้ยงสุกร ส่วนฟาร์มขนาดกลางต้องลดจำนวนแม่พันธุ์ลง 40-50% เพื่อลดภาระต้นทุนและความเสี่ยงจากการขาดทุน

นอกจากต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้นแล้ว เกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น อากาศร้อนและภัยแล้งทำให้หมูเติบโตช้าลง หมูไม่กินอาหารเป็นปกติ น้ำหนักไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เกษตรกรต้องเลี้ยงหมูนานขึ้น จึงมีต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณหมูเข้าสู่ตลาดลดลง ขณะเดียวกัน หมูในฟาร์มยังมีความเสี่ยงจากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านรอบทิศ เกิดปัญหาโรค ASF ทำให้การเลี้ยงหมูของไทยในปัจจุบันต้องใช้ต้นทุนด้านการบริหารจัดการสุขภาพสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว เกษตรกรขอให้รัฐบาลพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้นเป็นเหตุผลในการตัดสินใจในการควบคุมราคาหมู เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบการผลิตในระยะยาว หากรัฐบาลกดราคาหมูต่ำกว่าต้นทุน เกษตรกรจะขาดทุนซ้ำซากและต้องเลิกเลี้ยงมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณหมูในประเทศลดลงอย่างรุนแรง ทำให้ราคาในอนาคตพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจเปิดช่องให้มีการนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามาในตลาดซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมสุกรภายในประเทศและสร้างปัญหาต่อผู้บริโภคในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ระดับราคาหมูที่สูงขึ้นในขณะนี้ย่อมจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการเลี้ยง และผลผลิตหมูจะเพิ่มขึ้นตามจนระดับราคาลดลงเอง หรืออีกมุมหนึ่ง เมื่อราคาสูงขึ้น เกษตรกรจะขายหมูได้น้อยลง ราคาก็จะขยับลงเองในที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและเกษตรกรต่างเห็นพ้องกันว่า การปล่อยให้ราคาสุกรเป็นไปตามกลไกตลาดจะช่วยให้ระบบการผลิตเกิดความสมดุลอย่างเป็นธรรมทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค รัฐบาลจึงควรหลีกเลี่ยงการแทรกแซงราคา และหันไปสนับสนุนเกษตรกรด้วยมาตรการอื่น เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิต หรือการสนับสนุนอาหารทางเลือก แทนการควบคุมราคาที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสุกรโดยรวม

ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามใช้กลไกตลาดทำงาน เพื่อให้ราคาเป็นธรรมกับเกษตรกร ผู้ค้าและผู้บริโภค เนื่องจากขณะนี้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนของเกษตรกร เป็นราคาที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังมีแผนในการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ เพื่อรักษาสมดุลอุปสงค์-อุปทานด้วย./

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com