ข้าวสาลีและข้าวโพด วัตถุดิบหลักผลิตอาหารสัตว์ ราคาปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เนื่องจากมีความต้องการใช้สูง และเมื่อเกิดเหตุรัสเซียบุกยูเครน ตั้งแต่ 24 ก.พ. เป็นต้นมา ราคาข้าวสาลีและข้าวโพด ได้ปรับราคารขึ้นอีกมาก โดย ข้าวสาลีเพิ่ม 60% ข้าวโพดเพิ่ม 17% เพราะทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ เฉพาะข้าวสาลีรวมกันประมาณ 30% ส่วนข้าวโพดรวมกันประมาณ 19% ของการส่งออกทั่วโลก แต่เมื่อเกิดการสู้รบ การปลูก การผลิตและการส่งออกในยูเครนแทบหยุดชะงัก ส่วนรัสเซียก็ถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก การค้าขายธัญพืช 2ชนิดนี้กับรัสเซียทำได้ยากขึ้น ปริมาณวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ในตลาดส่งออกโลกจึงน้อยลงอีก รวมทั้งราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนในการขนส่งสินค้าพุ่งสูง ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมาก
แนวโน้มราคาเพิ่มสูง ไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศราคาข้าวสาลี ข้าวโพด เพิ่มขึ้น หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นตีเป็นเงินบาทไทยอยู่ในอัตรา 12.75 บาท/กก. จากราคา 8.91 บาท/กก. เมื่อปี 2564 ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จาก 6-8 บาท/กก. มาอยู่ที่ 11-12 บาท/กก. และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกตามทิศทางตลาดโลก โดยปีที่ผ่านมาไทยนำเข้าข้าวสาลีประมาณ 17 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากยูเครน แต่ขณะนี้ยูเครนประสบภัยสงคราม การส่งออกน้อยลงมากและเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้นำเข้าไทยจึงจำเป็นต้องหาประเทศแหล่งนำเข้าใหม่มาทดแทนท่ามกลางราคาในตลาดโลกที่เพิ่มสูง ซึ่งข้าวโพดก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน แต่ระดับของปัญหาอาจน้อยกว่าข้าวสาลี เพราะมีความต้องการนำเข้าน้อยกว่า ไม่เกิน 3 ล้านตัน/ปี อีกทั้งยังมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศให้ได้ใช้สอยพอควร รวมทั้งยังสามารถนำเข้าบางส่วนจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ด้วย
ต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่ม กระทบผู้เลี้ยง-ผู้บริโภค
สถานการณ์ด้านราคาล่าสุด วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ราคาเพิ่มขึ้นเกือบ 4,000บาท/ตัน ส่งผลให้ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องแบกรับราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้องปรับราคาจำหน่ายสินค้าจากสัตว์ขึ้น โดยเริ่มเห็นราคาสินค้าบางตัวปรับขึ้นแล้ว เช่น ไข่ไก่คละขนาดหน้าฟาร์มในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ เพิ่มขึ้นฟองละ 30 สตางค์ จาก 2.90 บาท เป็น 3.20 บาท ขณะที่ เนื้อหมู ไก่ ปลา ราคายังทรงตัว แต่ก็มีแนวโน้มปรับขึ้นสูง เมื่อผลผลิตรอบใหม่ที่ผ่านการเลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ที่ราคาสูงขึ้นออกสู่ตลาด
ภาครัฐเร่งแก้ปัญหา บรรเทาความเดือดร้อน
ผลจากการประชุมร่วมระหว่างปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ไก่เนื้อ สุกร และไก่ไข่ ได้เห็นชอบให้ยกเลิกใช้มาตรการ 3 ต่อ1 หรือ มาตรการซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีการยกเลิกมาตรการนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้มากขึ้น จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลกโดยไม่มีข้อจำกัด และมีเพียงพอที่จะนำมาผลิตอาหารสัตว์
อย่างไรก็ตามการยกเลิกใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 นี้อยู่ภายใต้เงื่อนไข ต้องนำเข้าข้าวสาลี “ในปริมาณที่กำหนด” ได้ถึงวันที่ 31 ก.ค. นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยไม่มีผลผลิตข้าวโพด ซึ่งจะไม่กระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ขณะที่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว เช่น มาตรการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดให้มากขึ้น เพื่อนำมาใช้ภายในประเทศ ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จะถูกนำมาใช้ในเร็วๆ นี้
ขอบคุณ : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์