ปี 2566 คาดว่า “หมูเถื่อน” จะเป็นวิบากกรรมของผู้เลี้ยงหมูรายย่อยไปอีกหนึ่งปี เพราะผู้เลี้ยงหมูยังออกมาโอดครวญให้เห็นกันอยู่ไม่ขาดสาย มิหนำซ้ำใกล้เลือกตั้งสินค้าตัวไหนหาเสียงได้ นักการเมืองไม่เคยพลาด ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ออกมาประกาศว่าราคาหมู ไก่ ไข่ ทยอยปรับลดลงแล้ว และจะปรับลดลงอีก นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ไม่ทำการบ้าน ไม่ลงพื้นที่ว่า เกษตรกรเขาเจอปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งล้วนมาจากมาตรการ “เอาหน้า หาเสียง” อ้างความเดือดร้อนของพี่น้องคนไทย อยากถามว่าผู้เลี้ยงหมูไม่ใช่คนไทยหรือไร
ที่สำคัญความเดือดร้อนล่าสุดของผู้เลี้ยง เช่น นายภักดี ชูขาว เจ้าของภักดีฟาร์ม ที่จังหวัดพัทลุง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสุกรบ้านเกาะปราง จังหวัดตรัง ออกมาร้องรัฐในเวลาใกล้เคียงกันว่า “หมูเถื่อน” ทะลักเต็มพื้นที่ทำให้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มผันผวนมาก จากเดิมที่เคยสูงเกินกว่า 92 บาทต่อกิโลกรัม และปรับลดไหลลงไปเหลือ 84 บาทต่อกิโลกรัม และเพิ่งจะมาปรับเพิ่มขึ้นเป็น 92 บาท ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม หากภาครัฐยังปล่อยให้หมูเถื่อนวิ่งวนอยู่ทั่วประเทศเกษตรกรรายย่อยมีหนทางเดียวคือเลิกกิจการ ลดการขาดทุน รอปราบหมูเถื่อนหมดแล้วค่อยกลับมาเลี้ยงใหม่
นายภักดี ผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก จำนวน 400 แม่พันธุ์ และกรรมการสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ยังให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนอีกว่าขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อย นับพันรายทั่วภาคใต้กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักมาก เนื่องจากไม่สามารถขายสุกรที่เลี้ยงได้ ทำให้เหลือค้างสต๊อกจำนวนมาก เนื่องมาจาก 4 สาเหตุหลัก คือ
1.มีการลักลอบนำเข้าสุกรจากต่างประเทศหรือ “หมูเถื่อน” ในรูปหมูกล่องเข้ามาขายราคาถูก
2.ราคาสุกรหน้าฟาร์มในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว และจีน ราคาประมาณ 70 บาท/กก. ทำให้มีการลักลอบเข้ามาทางชายแดน
3.ผู้บริโภคในภาคใต้ไม่มีกำลังซื้อ เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
4.ไทยยังไม่สามารถส่งออกสุกรได้ ส่งผลให้ผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อยขาดทุนตัวละ 500-1,000 บาท และมีแนวโน้มจะขาดทุนเพิ่มขึ้นถึงตัวละ 1,500 บาท/ตัว เพราะต้องแบกภาระต้นทุนการเลี้ยงทั้งค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าบริหารจัดการ
ในความเป็นจริง ภาคใต้เป็นภาคมีการบริโภคหมูค่อนข้างสมดุลกับการผลิต ต่างจากภาคอื่น เช่น ภาคเหนือ รับหมูจากภาคกลางขึ้นไปเติมเต็มการบริโภค ผู้เลี้ยงหมูในภาคใต้จึงไม่ค่อยมีปัญหาด้านราคาเหมือนภาคอื่น ที่สำคัญครั้งนี้มีปัญหาใหญ่หมูเถื่อนออกหากิน ความเสี่ยงขาดทุนเห็นอยู่ตรงหน้า แต่นักการเมืองเจ้าของพื้นที่ไม่เหลียวแลผู้เลี้ยงหมูเลย กลับประกาศว่าราคาหมู ไก่ ไข่ จะทยอยลงอีก หาก “สอบตกยกแผง” ในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงก็อย่าโทษใคร หรือจะนำข้อมูลของเกษตรกรไปช่วยแก้ไข ถึงตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไปทำให้เกษตรกรอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้ ก็ไม่ต้องอายใคร
“หมูเถื่อน” มาล่องใต้ได้อย่างไร ตั้งแต่ปลายปี 2565 ภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์ เป็นแกนนำร่วมกับตำรวจและทหาร สนธิกำลังจับกุมหนักมาก ทำให้หมูเถื่อนทีเคยเดินผ่านท่าเรือแหลมฉบังแบบ “ล่องหน” อยู่ยากขึ้น ต้องหันหัวเรือออกจากเมืองไทยไปขึ้นเวียดนามแทน แล้วค่อยๆเลาะมาทางลาว ข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นมุกดาหาร อุบลราชธานี จับได้ดำเนินคดีกันนักต่อนัก เที่ยวนี้มาขึ้นมาเลเซีย แล้วเข้าทางปาดังเบซาร์ติดชายแดนไทย-มาเลเซีย หรือท่าเรือสงขลา
จนถึงวันนี้ เชื่อว่า “หมูเถื่อน” ยังมีอยู่ในประเทศไทยอีกจำนวนมาก แต่ไม่มีการตรวจสอบจริงจัง หรือแม้แต่ในห้องเย็นตามจังหวัดเป้าหมายสำคัญที่เคยตรวจพบมาแล้ว เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม เป็นต้น ก็ไม่มีการตรวจซ้ำ หากตรวจก็พบ ทำให้หมูไทยช่วงนี้ราคาผันผวน สวนทางกับต้นทุนที่แท้จริง ดังนี้แล้วให้ประเมินได้เลยว่าหมูเถื่อนยังคงเกลื่อนไทย ขายถูกจนหมูไทยขาดทุนยับเยิน หากภาครัฐปล่อยหมูเถื่อนอยู่ได้ แต่หมูไทยอยู่ยาก ก็ต้องถอดบทเรียนกันเพื่ออุดช่องโหว์หน่วยงานภาครัฐให้ทันท่วงที
โดย : เอมอร อัมฤก นักวิชาการอิสระ