ข้อเท็จจริงและรายละเอียดของการออกกฎหมายมาตรฐานบังคับสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (GAP ฟาร์มไก่ไข่) ดังนี้
1. มาตรฐาน GAP สำหรับฟาร์มไก่ไข่
มาตรฐานการสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (GAP ฟาร์มไก่ไข่) เป็นมาตรฐานที่กำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงไก่ไข่เพื่อการค้า มีข้อกำหนดครอบคลุมองค์ประกอบฟาร์ม การจัดการฟาร์ม อาหาร น้ำ การจัดการบุคลากร การจัดการสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ ไก่รุ่น ไก่ระยะไข่ และไข่ไก่ การจัดการสิ่งแวดล้อม การบันทึกข้อมูล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ไข่ไก่ที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมในการนำไปบริโภคเป็นอาหาร
โดยได้มี ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ ตาม พรบ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ประกาศให้เป็นมาตรฐานทั่วไป (สมัครใจ)
2. การกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ
คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้มีมติที่ประชุมครั้งที่ 3/2559 (7 กรกฎาคม 2559) เสนอให้กำหนดมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เป็นมาตรฐานบังคับ วัตถุประสงค์ – เพื่อเพิ่มขีดความสามารถศักยภาพในการเลี้ยงไก่ไข่ ลดความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่ และเพื่อควบคุมปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากฟาร์มที่ยังไม่เข้าสู่ระบบมาตรฐาน
มีการกำหนด กฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ เป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 กำหนดให้
– ฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ ตั้งแต่จำนวน 100,000 ตัวขึ้นไป ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (21 กุมภาพันธ์ 2564)
– สำหรับฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่จำนวน 1,000 ตัว ถึง 99,999 ตัว ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (21 กุมภาพันธ์ 2568)
3. การบังคับใช้กฎหมาย
บังคับใช้ตาม พรบ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ดังนี้
– ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย (เลี้ยงน้อยกว่า 1,000 ตัว) ซึ่งมีจำนวน 125,972 ราย (ร้อยละ 98.82 ของผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั้งหมด จำนวน 127,477 ราย) ไม่ได้ถูกบังคับ ไม่ต้องขอใบอนุญาตและใบรับรอง
– สำหรับเกษตรกร (เลี้ยงมากกว่า 1,000 ตัวขึ้นไป) ที่ถูกบังคับให้ต้องขอใบอนุญาตและใบรับรอง มีจำนวน 1,505 ราย
– กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่างกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติในหลักการ ยกเว้นให้ฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงต่ำกว่า 10,000 ตัว (จำนวน 752 ราย) ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและใบรับรองฯ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการบรรจุเข้าวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีแล้ว
4. การขอใบอนุญาตและรับรองตามมาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่ไข่ภาคบังคับ และค่าธรรมเนียม
มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตตามมาตรฐานบังคับและ มกอช. ได้มอบหมายภารกิจในการออกใบอนุญาตฯ ให้แก่กรมปศุสัตว์ที่มีหน้าที่ออกใบรับรองมาตรฐาน GAP
เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอใบอนุญาตและใบรับรองได้ที่หน่วยงานเดียว (one stop service) โดยสามารถยื่นขอใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ TAS-License ได้ที่ http://tas.acfs.go.th/nsw/ มีค่าธรรมเนียมสำหรับบุคคลธรรมดา 100 บาท และนิติบุคคล 1,000 บาท (ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับประกอบกิจการเกี่ยวกับสินค้าเกษตร พ.ศ. 2552) และสามารถยื่นขอใบรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ Biz portal ผ่านทาง https://bizportal.go.th/ หรือติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ที่ฟาร์มตั้งอยู่ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
5. การกำหนดโทษตามมาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่ไข่ภาคบังคับ
– มีประกาศ มกอช. เรื่องกำหนดอัตราการเปรียบเทียบปรับ แบบบันทึกสรุปข้อเท็จจริงพยานหลักฐานและความเห็นคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ แบบบันทึกคำให้การ แบบบัญชีของกลาง แบบบันทึกการเปรียบเทียบปรับ แบบบันทึกประวัติผู้ต้องหา และคู่มือการปฏิบัติงานพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เฉพาะการเปรียบเทียบปรับ ได้กำหนดอัตราการเปรียบเทียบปรับ ดังนี้
-
- ไม่ขอรับใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 20 – อัตราค่าปรับ ครั้งที่ 1 เปรียบเทียบปรับ 30,000 บาท ครั้งที่ 2 เปรียบเทียบปรับ 60,000 บาท ครั้งที่ 3 และครั้งต่อๆ ไป ปรับ 300,000 บาท
- ไม่ขอรับการตรวจสอบและได้รับใบรับรองฯ ตามมาตรา 27 – อัตราค่าปรับ ครั้งที่ 1 เปรียบเทียบปรับ 50,000 บาท ครั้งที่ เปรียบเทียบปรับ 2 100,000 บาท ครั้งที่ 3 และครั้งต่อๆ ไป 500,000 บาท
ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไป มีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะ สามารถติดต่อได้ที่สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ โทร 02-653-4444 ต่อ 3155 หรือส่งข้อมูลได้ที่แอพพลิเคชั่น DLD 4.0