หยุดยาว “สงกรานต์” ช่วงที่คนไทยเดินทางกลับภูมิลำเนา เป็นช่วงเดียวกับที่ “หมูเถื่อน” ได้ท่องเที่ยวทั่วไทยเช่นกัน เพราะยังมีการจับกุมได้เป็นระยะๆ ทั้งช่วงก่อนเทศกาลและระหว่างเทศกาล ด้วย “คนร้าย” ชะล่าใจนึกว่าเจ้าหน้าที่จะหย่อนยานช่วงนี้ กลับกันสังคมได้เห็นการจับกุมการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนสุกรโดยไม่มีใบอนุญาต หรือที่มีก็เป็นใบอนุญาตปลอม ที่สำคัญมีของแถมมาคือชิ้นส่วนหมูติดเชื้อ โดยเฉพาะในเส้นทางขึ้นภาคเหนือที่ความต้องการสูงกว่าภาคอื่นแต่มีผลผลิตน้อย
ล่าสุดกองสารวัตรและกักกัน ด่านกักกันปศุสัตว์ลำปาง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รายงานว่า จับกุมชิ้นส่วนหมูเป็นหมูบดและหมูสไลด์ลักลอบเคลื่อนย้ายช่วงเทศกาลสงกรานต์รวม 507.5 กิโลกรัม ต้นทางสมุทรสาคร ปลายทางที่อำเภอเถิน ติดกันก่อนหน้า 2 วัน อีก 1 คดี จับกุมชิ้นส่วนหมูแช่แข็ง 3,000 กิโลกรัม ต้นทางราชบุรี ปลายทางอำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง ซึ่งล็อตนี้พบการติดเชื้อและปลอมใบอนุญาตเคลื่อนย้ายด้วย จึงจำเป็นต้องมีการฝังกลบทำลายตามขั้นตอนเพื่อป้องกันโรคระบาดทันที อย่างที่ทราบกันว่าช่วงเทศกาลความต้องการบริโภคสูง จึงเป็นโอกาสทองของ “หมูเถื่อน” ได้ออกอาละวาดหวังกอบโกยกำไรโดยไม่มีความรับผิดชอบที่หยิบยื่นหมูติดเชื้อโรคให้กับผู้บริโภค
ย้อนกลับไปดูเส้นทางหมูเถื่อน จากการชี้เป้าของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเมื่อปี 2565 ย้ำแล้วย้ำอีกว่าช่องทางหลัก คือ ท่าเรือแหลมฉบัง แต่ผ่านไป 1 ปี ไม่มีอะไรคืบหน้า หมูเถื่อนก็ยังมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐก็เปิดตู้ตกค้างที่ท่าเรือให้ตรวจสอบตามคำขอจาก 331 ตู้ที่แจ้งยอด เปิดให้ดู 5 ตู้ “ชิมลาง” พบหมูเถื่อน 3 ตู้ แล้วก็เงียบหาย แสดงว่า “หมูเถื่อน” มีอยู่ที่ท่าเรือฯ จริง ตามที่สมาคมฯ ให้ข้อมูล แต่ไม่ติดตามทวงถามก็ไม่มีความคืบหน้าว่าเปิดตู้ฯ ครบแล้วหรือไม่ ได้หมูเถื่อนอีกมากน้อยแค่ไหน เพราะ 3 ใน 5 จัดเป็นร้อยละ 60 เป็นตัวเลขไม่น้อย
เมื่อช่องทางท่าเรือแหลมฉบัง ลากตู้สินค้าออกได้ไม่ลื่น มีตำรวจตั้งด่านตรวจที่ทางออกนอกท่าฯ ทำให้หัวเรือหันไปเวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ขบวนการลักลอบนำเข้าเปลี่ยนกลยุทธ์ใช้แผนอำพรางตัวหลบหลีกการจับกุม ภาครัฐจับได้บ้างไม่ได้บ้าง การเปลี่ยนจุดลักลอบนำเข้านี้ขอตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเข้าไทยตรงๆ ไม่ได้ อาจมีการส่งสัญญาณจากจุดใดจุดหนึ่งในเมืองไทยให้ไปเข้าช่องต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นมีการจับกุมหมูเถื่อนในจังหวัดชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง อาทิ สระแก้ว สงขลา มุกดาหาร เชียงราย
การจับกุมหลายครั้งหลายครา ทำให้มั่นใจได้ว่าหมูเถื่อนยังวางขายเกลื่อนในไทยแน่นอน เพียงแต่แยกกันไม่ออกเท่านั้น และตราบใดที่ราคาเนื้อหมูในไทยยังยืนอยู่ในระดับสูง ยอมส่งกลิ่นหอมยวนใจให้มิจฉาชีพหาโอกาสทำกำไรไม่ลดละ และมั่นใจได้ว่าหมูเถื่อนส่วนหนึ่งถูกนำเข้ามาพักไว้ในห้องเย็นเพื่อรอการระบาย ขอชี้เป้าตรงนี้ให้ภาครัฐตรวจสอบห้องเย็นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะกฎหมายอยู่ในมือท่าน เพียงแต่จะลงมือทำหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่ป้องกันโรคระบาด ที่อาจจะเกิดซ้ำจากหมูเถื่อน เป็นพาหะนำโรคเท่านั้น แต่เป็นการปกป้องคนไทยให้ได้รับอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดีถ้วนหน้า
อีกหนึ่งทางที่จะทำให้เหล่าร้าย เกรงต่ออำนาจรัฐได้บ้าง คือ การจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้ง พ.ร.บ.กรมศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 ซึ่งมีบทลงโทษหนักกว่า พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 ผู้ทำผิดกรณีนี้ควรจะโดนดำเนินคดี 2 เด้ง ซึ่งจะมีโทษทั้งจำคุกและปรับในระดับสูง และควรดำเนินคดีให้ถึงที่สุดทุกราย 1 ปีมาแล้ว เพิ่งมีการฟ้องศาลและตัดสินเพียงรายเดียวเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของภาครัฐ จากที่ในปี 2565 มีการจับกุมเกือบ 30 ครั้ง หวังว่าปีใหม่ไทยปีนี้ ตู้ที่ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังจะถูกเปิดเพื่อพิสูจน์ครบทุกตู้ และมีการเร่งรัดดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ปราบปรามและจับกุมเคร่งครัดเอาประโยชน์ของคนไทยและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อไหร่ท่านหยุด แต่ “หมูเถื่อน” ไม่หยุด ยังคงทำร้ายผู้เลี้ยงหมูและคนไทยทุกวัน
โดย นงพนา สอนสิทธิ์ นักวิชาการอิสระด้านปศุสัตว์