กรมการค้าภายในแจ้งความคืบหน้าการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ตามมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและตึงตัว ล่าสุดเอกชนเร่งนำเข้าแล้ว 7.81 แสนตัน คาดถึงสิ้นเดือนก.ค. การนำเข้าอาจไม่เต็มโควตาที่ให้ไว้ 1.2 ล้านตัน เหตุหาซื้อยาก ราคาแพง ย้ำหากผู้ผลิต ขอปรับราคา จะพิจารณาอย่างเหมาะสม ไม่กระทบทุกฝ่าย เผยปัจจุบันยังไม่ให้ขึ้น แต่ผู้ผลิตใช้วิธีปรับส่วนลดการค้าลงแทน
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-22 มิ.ย.2565 ผู้ประกอบการแจ้งปริมาณการนำเข้าทั้งข้าวสาลีและข้าวโพดทุกช่องทาง ทั้งภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และองค์การการค้าโลก (WTO) รวม 781,770.21 ตัน แบ่งเป็นข้าวสาลี 218,608.55 ตัน ข้าวโพด 563,161.66 ตัน ส่วนข้าวบาร์เลย์ ไม่มีการนำเข้า คาดว่า จนถึงสิ้นเดือนก.ค.นี้ การนำเข้าน่าจะใกล้เคียง 1 ล้านตัน ไม่เต็มจำนวน 1.2 ล้านตัน ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลนและตึงตัว โดยยกเว้นภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ WTO ในโควตาอัตราภาษี 0% จากเดิม 20% ปริมาณไม่เกิน 600,000 ตัน และการผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าข้าวสาลี โดยยกเว้นสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการซื้อข้าวโพดในประเทศ ที่ 1 ต่อ 3 ส่วน ในช่วง 3 เดือน ระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค.2565 รวมไม่เกิน 1.2 ล้านตัน
“ตอนนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ได้เร่งการนำเข้าให้ทันสิ้นสุดเดือนก.ค.2565 เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอผลิตอาหารสัตว์ แต่ขณะนี้ หาซื้อยากมาก เพราะข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของโลก ไม่เข้าสู่ตลาด และบางประเทศห้ามส่งออกชั่วคราว หรือจำกัดปริมาณส่งออก จึงผลักดันให้ราคาสูงขึ้นมาก ยอมรับว่า มาตรการผ่อนปรนของรัฐครั้งนี้ อาจช่วยลดภาระให้ผู้ผลิตได้ไม่มากนัก เพราะราคาในตลาดโลกสูงขึ้นมาก อย่างข้าวสาลี ล่าสุด กิโลกรัม (กก.) ละ 13.88 บาท จากราคาเฉลี่ยปี 2564 ที่กก.ละ 8-9 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 12.85 บาท จากราคาเฉลี่ยปี 2564 ที่กก.ละ 8.75 บาท” นายวัฒนศักย์กล่าว
ทั้งนี้ หากต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ ยังไม่สามารถลดลง จนสามารถปรับลดราคาขายอาหารสัตว์ลงได้ และถ้าผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคาขายมาที่กรมฯ จะพิจารณาให้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุน โดยยึดหลักผู้ผลิตยังทำธุรกิจต่อไปได้ ผู้ใช้ เช่น ผู้เลี้ยงหมู ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงผู้บริโภคต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กรมฯ มีแผนที่จะช่วยลดภาระต้นทุนให้กับผู้เลี้ยงสัตว์อีก โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการเชื่อมโยงโรงสีข้าวกับผู้เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ให้นำข้าวเปลือกและข้าวสารคุณภาพอาหารสัตว์ไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ทดแทนข้าวสาลี เพราะข้าวเกรดอาหารสัตว์ ราคาถูกกว่าข้าวสาลี
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า อาหารสัตว์เป็นสินค้าควบคุมภายใต้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 การจะขึ้นราคา ผู้ผลิตต้องขออนุญาตจากกรมฯ ก่อน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้อนุญาตให้ปรับขึ้นราคาขาย โดยจากการติดตาม พบว่า ผู้ผลิตใช้วิธีการปรับลดส่วนลดการค้าที่เคยให้กับผู้ค้าส่งแทนการขึ้นราคา เช่น เดิมเคยให้ส่วนลดผู้ค้าส่ง 9 บาท ก็ลดลงเหลือ 6 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนกรณีที่ไก่ หมู มีราคาสูงขึ้น น่าจะมาจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นมากจนกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยง แต่ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิต และห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกค้าส่ง ให้ช่วยตรึงราคาขายไว้ก่อน เพื่อลดผลกระทบของประชาชน