รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกมายอมรับว่าสื่อสารคลาดเคลื่อน ในประเด็นสั่งลดราคาเนื้อสัตว์ภายใน 15 วัน หลังรัฐบาลประกาศลดราคาดีเซล ท่ามกลางความเดือดร้อนของคนเลี้ยงหมูที่แบกภาระขาดทุนสะสมมานานกว่า 8 เดือน และกำลังอยู่ระหว่างรอรับการเยียวยาเพื่อแก้ไขปัญหาจากรัฐ โดยเพิ่งเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว
แม้ รมว.พาณิชย์จะยอมรับว่าสื่อสารคลาดเคลื่อน แต่ที่น่าเศร้าคือเหตุการณ์นี้ตอกย้ำว่า รมว.พาณิชย์ กับ รมว.เกษตรฯ ของประเทศไทยไม่ได้มีการทำงานใกล้ชิดกันอย่างที่ควรจะเป็น เป็นที่มาของการเกิดมาตรการหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับภาคเกษตรปศุสัตว์ นำไปสู่ความบิดเบี้ยวของห่วงโซ่อุปทานที่กระทบไปถึงผู้คนมากมายในหลายๆขั้นของห่วงโซ่ และแน่นอนว่าทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรภาคปศุสัตว์สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขัน สุดท้ายประชาชนและประเทศชาตินั่นล่ะที่ต้องถดถอย
จากกราฟสัดส่วนต้นทุนการผลิตหมูของเกษตรกรไทย จะเห็นได้ชัดเจน ว่าไม่มีค่าน้ำมันดีเซลแสดงอยู่ในภาพ เพราะเป็นต้นทุนส่วนน้อยที่แทรกอยู่ใน “หมวดอื่นๆ” ซึ่งในหมวดนี้มีสัดส่วนเพียง 6% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด หากรัฐบาลลดราคาดีเซลแล้ว ต้องมากดดันให้คนเลี้ยงหมูลดราคาขายหมูด้วย จึงไม่เป็นธรรมด้วยประการทั้งปวง
สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ควรทำ คือการจัดการต้นทุน “วัตถุดิบอาหารสัตว์” ที่เกษตรกรต้องซื้อมาผสมอาหารเลี้ยงสัตว์ เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 67% และสถานการณ์ราคาธัญพืชอาหารสัตว์ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง และไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง เนื่องจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่จบ ประกอบกับภัยแล้งจากเอลนีโญทวีความรุนแรงกระทบพื้นที่เกษตรทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์กันว่าเอลนีโญจะลากยาวไปถึงปีหน้า
ปัญหาของวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้องแก้กันแบบครบวงจร ตั้งแต่แหล่งผลิตของพืชอาหารสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ฯลฯ รวมถึงการจัดการด้านราคาพืชผลเกษตร เพื่อให้ทุกคนในแต่ละขั้นของห่วงโซ่การผลิตอยู่ได้และเติบโตไปด้วยกันได้ทั้งหมด ไม่ใช่ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่รอดปลอดภัยด้วยการประกันราคาหรือการประกันรายได้ แต่กลับทำร้ายอีกกลุ่มหนึ่งให้เดือดร้อน แบกรับภาระแทน ซึ่งเป็นวิถีที่ไม่ยั่งยืน และจะย้อนกลับมาทำร้ายอุตสาหกรรมอาหารของประเทศให้ล่มสลายลงในที่สุด
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ควรช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยซ้ำ โดยนำกฎหมาย “พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 (มาตรา 25)” ขึ้นมาใช้ในห้วงเวลาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องขาดทุนหนักเช่นนี้ เพื่อช่วยต่อชีวิตให้คนกลุ่มนี้มีลมหายใจประกอบอาชีพได้ต่อไป
กฎหมายดังกล่าวระบุไว้ว่า เมื่อได้มีการประกาศกําหนดสินค้าหรือบริการควบคุมตามมาตรา 24 แล้ว ให้คณะกรรมการมีอํานาจ ดังต่อไปนี้ (1) กําหนดราคาซื้อหรือราคาจําหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมให้ผู้ซื้อซื้อในราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่กําหนด หรือให้ผู้จําหน่าย จําหน่ายในราคาไม่สูงกว่าราคาที่กําหนด หรือตรึงราคาไว้ในราคาใดราคาหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นความเร่งด่วนข้อแรกที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งจัดการให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุน ก่อนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รายย่อย” จะล่มสลายไปทั้งหมด
ไม่ใช่คิดว่าหมูกินน้ำมันดีเซลเป็นอาหารและจ้องจะกดราคาท่าเดียว
โดย : ลักขณา นิราวัลย์