ตลอดปี 2563 เป็นปีที่อุตสาหกรรมสุกรทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรค ASF ในสุกร และสถานการณ์นี้เอง สะท้อนให้เห็นภาพความร่วมมืออย่างจริงจังของผู้เกี่ยวข้องในวงการสุกรไทยในทุกภาคส่วน ที่ช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้อย่างเข้มแข็ง ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่คงสถานะปลอดโรค ASF จนถึงปัจจุบัน ช่วยตอกย้ำถึงมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยทางอาหารของสุกรไทยได้เป็นอย่างดี
สำหรับปริมาณการผลิตสุกรของไทยในปี 2563 นี้ ผู้ประกอบการฟาร์มสุกรครบวงจรและเกษตรกรรายย่อยทั้งประเทศร่วม 200,000 ฟาร์ม มีผลผลิตสุกรมากกว่า 22 ล้านตัวต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่การผลิตอยู่ที่ 20.43 ล้านตัว ปริมาณการผลิตขยายตัวตามจำนวนประชากร ประกอบกับราคาสุกรมีชีวิตจูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต หลังจากที่ช่วงกลางปี 2562 ราคาสุกรตกต่ำเป็นอย่างมากจากปัญหา Over supply และมีปัจจัยเสริมจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับ ASF ทำให้เกษตรกรทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ต่างระมัดระวังในการเข้าเลี้ยงสุกรมากขึ้น
โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปีก่อนหน้านี้ เมื่อปริมาณสุกรในภาพรวมลดลง ราคาพลิกกลับมาดีขึ้น เกษตรกรจึงหันมาเพิ่มการผลิตรองรับความต้องการบริโภค ขณะเดียวกันการบริหารจัดการฟาร์มและป้องกันโรคระบาดได้เป็นอย่างดี ทำให้ประสิทธิภาพในการเลี้ยงสุกรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้การผลิตสุกรของไทยเป็นการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศเป็นหลักประมาณ 97% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทยอยู่ที่ปริมาณ 1.49 ล้านตัน ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 0.68% จากปี 2562 โดยการผลิตสุกรยังคงเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ ไม่เคยมีปัญหาขาดแคลน
ตาราง : ข้อมูลต้นทุนการผลิตและราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเกษตรกร ปี 2563
รายการ | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | เฉลี่ย |
ต้นทุน | 60.83 | 59.40 | 61.23 | 67.58 | 75.23 | 71.55 | 69.81 | 66.55 | 68.67 | 71.24 | 76.39 | 77.98 | 68.87 |
ราคา | 76-80 | 72-76 | 69-75 | 66-71 | 68-74 | 69-77 | 77-79 | 79-80 | 79-80 | 78-80 | 72-79 | 71-80 | 73-78 |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) / สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
จากตารางข้อมูลการผลิตสุกรจะเห็นว่าราคาสุกรตลอดทั้งปีมีความผันผวน และต้องพบกับความท้าทายเมื่อโควิด-19 มีการระบาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ กระทบต่อการท่องเที่ยวและการจับจ่าย ยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ ปิดสถานที่เสี่ยง ทำให้ราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของเกษตรกรเริ่มเข้าสู่ภาวะตกต่ำ กระทั่งเริ่มทยอยปลดล็อคดาวน์ในช่วงพฤษภาคม ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรจึงกลับมาคึกคักขึ้น ประกอบกับขณะนั้นยังอยู่ในช่วงฤดูร้อน อากาศร้อนแปรปรวนและภัยแล้ง ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสุกรเสียหายกว่า 10% กลไกตลาดดังกล่าวทำให้ราคาสุกรฟื้นตัวได้อีกครั้งและประคองตัวมาได้ หากแต่ต้นทุนการเลี้ยงสุกรก็ปรับขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน ทั้งจากการลงทุนระบบ Biosecurity ในฟาร์มเพื่อป้องกันโรค ASF และโรค PRRS อย่างเข้มงวด ตลอดจนปัญหาภัยแล้งอากาศแปรปรวน
อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและเกษตรกรทั่วประเทศ ยังคงยืนหยัดราคาสุกรหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือ เพื่อร่วมกันดูแลค่าครองชีพแก่ประชาชนไทยในวิกฤตโควิด-19
สำหรับการส่งออกมีการขยายตัวจากความต้องการสุกรของประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย โดยเฉพาะ จีน เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ที่ประสบปัญหา ASF ทำให้ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ และราคาสุกรมีชีวิตเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวจากภาวะปกติ ตามกลไกตลาด จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย ทั้งในส่วนของสุกรพันธุ์ สุกรขุนมีชีวิต และเนื้อสุกร จากมาตรฐานของไทยที่สามารถผลิตสุกรคุณภาพปลอดสาร ปลอดภัย ปลอดโรค
เนื่องจากไทยมีระบบฟาร์มมาตรฐานที่แข็งแกร่งทั้งฟาร์มเชิงพาณิชย์ ที่เลี้ยงภายใต้มาตรฐาน GAP และมาตรฐาน GFM ในฟาร์มขนาดเล็ก ที่กรมปศุสัตว์ผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองมาตรฐานมุ่งเน้นการปกป้องฟาร์มและฝูงสัตว์ ด้วยจัดการฟาร์มให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity System) ที่เข้มงวด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจัดการฟาร์มสุกรในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพและควบคุมโรคระบาดได้ดีขึ้น จากประสบการในการป้องกัน ASF มานานกว่า 2 ปี หากแต่ในช่วงที่ผ่านมายังคงมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคในสุกร เช่น โรค PRRS หรือเพิร์ส ทำให้การผลิตสุกรเสียหายเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยฟาร์มสุกรของเกษตรกรรายย่อยและฟาร์มขนาดเล็ก
สำหรับคาดการณ์อุตสาหกรรมสุกรในปี 2564 แม้จะมีความท้ายทายจากวิกฤตโควิด-19 และสถานการณ์ ASF ที่ยังพบการระบาดในประเทศต่างๆรอบๆไทย แต่แนวโน้มภาพรวมยังคงสดใส จากความต้องการบริโภคที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ปริมาณการผลิตน่าจะใกล้เคียงกับปีนี้ จากภาวะโรค ASF และ PRRS ที่ยังต้องเฝ้าระวัง และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงลดความเสี่ยง ด้วยการเข้าเลี้ยงสุกรบางลง ไม่เต็มกำลังการผลิต สอดคล้องกับการผลิตสุกรทั่วโลกที่ลดลงจากปัจจัยดังกล่าว และเชื่อว่าสุกรจะยังคงเป็นสินค้าปศุสัตว์เดียวที่เหลืออยู่ ที่จะสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้ในวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้
วันนี้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไทยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ยังคงจับมือเหนียวแน่น เพื่อตั้งค่ายกลป้องกัน ASF ที่แข็งแกร่ง ปกป้องอาชีพเลี้ยงสุกร ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติในวิกฤตโควิดเช่นนี้ต่อไป
ขอบคุณ : นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ